สวรส. ระดมสมอง จัดทำข้อเสนออัตรากำลังคนในหน่วยงานบริหารสาธารณสุข

ข่าวทั่วไป Wednesday March 18, 2015 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมระดมสมองเรื่อง “การศึกษาการวิเคราะห์งาน การจัดอัตรากำลังคน และความก้าวหน้าของบุคลากรในหน่วยงานบริหารสาธารณสุขระดับเขต จังหวัดและอำเภอ” โดยมี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานฯ พร้อมด้วย นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สวรส. พญ.ดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจและประเมินผล นายวราสิทธิ์ กาญจนสูตร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกลุ่มบริหารงานบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย และคณะนักวิจัย นำเสนอข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดอัตรากำลังของบุคลากร ณ ห้องประชุมสุปัญญา อาคารสุขภาพแห่งชาติ ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย นักวิจัย สวรส. กล่าวว่า การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์งาน การจัดอัตรากำลังคน และความก้าวหน้าของบุคลากรในระดับบริหารในหน่วยงานบริหารสาธารณสุขภูมิภาค คือ ระดับเขตบริการสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการปฏิรูป และการเปลี่ยนแปลงบทบาท การเป็นผู้ซื้อบริการ ผู้ให้บริการ และผู้กำกับติดตามของหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีแนวโน้มว่า การเปลี่ยนแปลงของการอภิบาลระบบสุขภาพ ทั้งในระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ จะส่งผลกระทบต่อบทบาท ภาระหน้าที่ และรูปแบบการทำงานของบุคลากรในอนาคต จึงต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการอย่างเหมาะสม “สำหรับกระบวนการจัดทำข้อเสนอ ได้มาจากการเก็บรวมรวมข้อมูล โดยการทบทวนเอกสาร จัดทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์ จากนั้นทำการวิเคราะห์งาน หน้าที่และความรับผิดชอบ และภาระงานของบุคลากรในกลุ่มงานต่างๆ ในหน่วยบริหารส่วนภูมิภาค โดยทำการศึกษาในพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 1 คือ ในจังหวัดลำพูนกับเชียงใหม่ และเครือข่ายบริการที่ 5 ในจังหวัดราชบุรีกับสมุทรสงคราม” ดร.นพ.ปิยะ กล่าว โดยการประมาณการความต้องการบุคลากร ใน สสจ. ทำการคาดการณ์ความต้องการบุคลากรในเชิงปริมาณ (จำนวน), การพิจารณาจากสถานการณ์อัตรากำลังในปัจจุบัน ในจังหวัดต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดย กลุ่มบริหารงานบุคคล สป.สธ. โดยแบ่งการวิเคราะห์โดยอ้างอิงจำนวนบุคลากรใน 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มงานวิชาการ รวมบุคลากรในกลุ่มงานควบคุมโรค งานส่งเสริมสุขภาพ งานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ทันตสาธารณสุข และ งานอาชีวเวชศาสตร์ กลุ่มงานพัฒนาระบบ รวมบุคลากรในกลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์ งานพัฒนาคุณภาพและบริการ งานประกันสุขภาพ กลุ่มงานบริหารจัดการ รวมบุคลากรในกลุ่มงานบริหารทั่วไป ทรัพยากรบุคคล นิติการ เป็นต้น จากนั้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนในแต่ละกลุ่มกับปัจจัยบ่งบอกภาระงาน (proxy indicators) เพื่อสร้างแบบจำลอง (model) ที่สะท้อนภาระงาน แต่ก็ไม่ซับซ้อนเกินไปที่จะนำมาใช้ประมาณการความต้องการบุคลากร สสจ. โดยข้อสมมติฐานหลักของวิธีการนี้ สะท้อนได้ว่าอัตรากำลังในปัจจุบัน ที่รวมจำนวนผู้ยืมตัว และลูกจ้างชั่วคราว สามารถบ่งชี้ถึงระดับภาระงานและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดกับการทดแทนภาระหน้าที่กัน อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้รายงานข้อจำกัดที่สำคัญ เช่น ปริมาณในภาพรวมของแต่ละกลุ่ม ไม่ได้พิจารณาเรื่องความแตกต่างในขีดความสามารถของแต่ละบุคคลหรือแต่ละตำแหน่งที่อาจแตกต่างกัน ทั้งไม่ได้พิจารณาระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของการทำงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น ประเด็นการวิเคราะห์หน้าที่และตัวชี้วัดระดับกลุ่มงานในสำนักงาน สสจ. และ สสอ. ใน 4 จังหวัด ดร.นพ.ปิยะ นำเสนอว่า สสจ. แต่ละแห่งมีการจัดโครงสร้างแตกต่างออกไปจากโครงสร้างหลัก แม้ว่ายังมีความรับผิดชอบของกลุ่มงานตามโครงสร้างจริงครบตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนด โดยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการจัดโครงสร้างมีทั้งที่รวมกลุ่มงานบางกลุ่มเข้าด้วยกัน หรือแยกกลุ่มงานจากหนึ่งเป็นสองกลุ่มงาน หรือตั้งกลุ่มงานใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม บริบท และแนวทางการบริหารจัดการของผู้บริหาร สสจ. และขีดความสามารถของบุคลากร ส่วนด้านหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของแต่ละกลุ่มงาน จากการสัมภาษณ์พบว่า ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยพบว่าแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในระเบียบ แต่มีบางกลุ่มงานที่มีความแตกต่างไปบ้าง เช่น ในกลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุขบางพื้นที่ ต้องรับงานการติดตามการจัดสรรงบประมาณประจำปี และมีงานยาเสพติด ในกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข มีงานสนับสนุนการดำเนินงานของแพทย์แผนไทย และ ในกลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการมีงานจัดทำรายงานข้อมูลอุบัติเหตุ/สาธารณภัย และข้อมูลการเฝ้าระวัง ทั้งยังพบว่า มีบทบาทบางประการที่เมื่อเทียบระหว่าง สสจ. จะมีการจัดกลุ่มไว้แตกต่างกัน หรือทำอยู่ในคนละกลุ่มงาน เช่น งานการแพทย์แผนไทย ที่พบว่าในบางจังหวัด งานด้านการแพทย์แผนไทยจะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข แต่ในบางจังหวัดเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริการ เป็นต้น นอกจากนี้ ในการวิเคราะห์หน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มงานต่าง ๆ โดยจำแนกบทบาทออกเป็น 4 ประเภท คือ การกำกับและประเมินผล (regulator) การให้บริการสุขภาพและสาธารณสุข (service provider) การสนับสนุนบริการ (supporter) และ การซื้อบริการสุขภาพ (purchaser) จะพบว่า บทบาทของแต่ละกลุ่มงานจะแตกต่างกันไปพอสมควร โดย กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข เน้นบทบาทด้านการกำกับและประเมินผล ในขณะที่กลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มงานควบคุมโรค กลุ่มงานนิติการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข กลุ่มงานประกัน กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและรูปแบบบริหาร กลุ่มงานทันตสาธารณสุข กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและ กลุ่มงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีบทบาทหลักด้านการสนับสนุนบริการ บทบาทการให้บริการโดยตรงมีอยู่น้อย โดยพบในกลุ่มงานควบคุมโรค และกลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ ในขณะที่บทบาทซื้อบริการ ไม่พบเลย การจำแนกบทบาทของภาระหน้าที่ภายในแต่ละกลุ่มงานจะช่วยในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในความต้องการบุคลากร หากการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขมีข้อสรุปบทบาทของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เปลี่ยนไป เช่น เป็นแค่ regulator อย่างเดียว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทางคณะนักวิจัยอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการสังเคราะห์ข้อเสนอสำหรับใช้ในกำหนดอัตรากำลังของบุคลากรของหน่วยบริหารสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคของบุคลากรที่ระดับต่างๆ (เขต จังหวัด อำเภอ) โดยพิจารณาจำนวน ระดับตำแหน่ง และคุณลักษณะ โดยหลังจากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดทิศทางและบทบาทของสำนักงานเขต สสจ. สสอ. แล้วจะจัดทำทางเลือกเชิงนโยบาย โดยแต่ละทางเลือกอาจระบุอัตรากำลังของหน่วยบริหารแต่ละระดับว่าควรเป็นเท่าไร ก่อนจะนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ทางด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันโครงสร้างการบริหารระดับเขตสุขภาพ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นกฎกระทรวง ทั้งนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบทาง ครม. แล้วจะสามารถเห็นโครงสร้างการบริหารของเขตบริการสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของการวิเคราะห์งานสำหรับการจัดวางอัตรากำลัง จะต้องมีการตกลงกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กับ กสธ. โดยเฉพาะการวางตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญระดับต่างๆ ลงไป คาดว่าภายใน 2 เดือนจะมีความคืบหน้ามากขึ้น “ส่วนของโครงสร้างปัจจุบันของ สสจ. และ สสอ. ในระหว่างนี้ได้ให้แต่ละพื้นที่ไปบริหารจัดการและตกลงกรอบโครงสร้างแบบหลวมๆ กันเองก่อน ซึ่งโครงสร้างและอัตรากำลังในส่วนของหน่วยบริหารนั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับทาง ก.พ. ยังคงต้องรอข้อเสนอจากงานวิจัยของ สวรส. เพื่อพิจารณาว่าโครงสร้างใหม่กับโครงสร้างเดิมนั้นจะมีความแตกต่างกันอย่างไร อย่างเช่น ในบางพื้นที่ได้เพิ่มกลุ่มงานเข้ามาในโครงสร้างใหม่ เช่น งานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย ที่เป็นข้อเสนอที่ทางกรมอนามัยต้องการให้เกิดขึ้น กลุ่มงานควบคุมโรค ที่แบ่งเป็น 2 กลุ่มงานคือ กลุ่มงานโรคติดต่อ และกลุ่มงานโรคไม่ติดต่อ ซึ่งควบรวมกับงานด้านสุขภาพจิตไว้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มงานด้านแพทย์แผนไทยขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นนโยบาย กสธ. ที่ต้องการเห็นการแพทย์แผนไทยก้าวหน้าทัดเทียมการแพทย์แผนปัจจุบัน” รองปลัด กสธ. กล่าว นพ.วชิระ กล่าวปิดท้ายว่า งานวิจัยจาก สวรส. ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์เพิ่มเติมนั้นเมื่อสมบูรณ์แล้ว เชื่อว่าจะช่วยในการสนับสนุนทางวิชาการ และใช้ประกอบในการตัดสินใจของผู้บริหาร กสธ. ก่อนเสนอต่อ ก.พ. ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ