สุภิญญา หวั่น! แก้ พรบ. กสทช. การเมืองแทรกแซงความเป็นอิสระกสทช.

ข่าวเทคโนโลยี Thursday March 19, 2015 18:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--NBTC Rights นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดทำข้อเสนอแนะและความเห็นในขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ส่งถึงประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 นายมีชัย ฤชุพันธ์ ใน 4 ประเด็นสำคัญได้แก่ ความเป็นอิสระของ กสทช. การจัดสรรคลื่นความถี่ การจัดส่งเงินค่าประมูลเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ และกองทุน กสทช. ในเอกสารข้อเสนอแนะและความเห็น นางสาวสุภิญญา ได้กล่าวถึง เจตนารมณ์การจัดตั้ง กสทช.คือ องค์กรที่มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการ รวมทั้งการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่หน่วยงานภาครัฐถือครองเพื่อนำมาปรับปรุงและจัดสรรอย่างเป็นธรรมในระบบใหม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ จึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดให้ กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระซึ่งในร่างการแก้ไขปรับปรุงในปัจจุบัน มีประเด็นที่แย้งหรือขัดต่อเจตนารมณ์ข้างต้น หากดำเนินการในลักษณะที่อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีองค์ประกอบกรรมการส่วนใหญ่มาจากรัฐมนตรีประจำกระทรวง เป็นแนวทางที่จะทำให้ภาคการเมืองเข้ากำกับทิศทางและการดำเนินงานของ กสทช. โดยตรง และเอื้อให้มีการแทรกแซงการทำหน้าที่ของ กสทช. ได้โดยง่าย ทั้งนี้ พรบ. ฉบับเดิมได้กำหนดหลักประกันให้ประชาชนเข้าถึงและใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ ส่วนประเภทบริการสาธารณะและประเภททางธุรกิจนั้นมิได้กำหนดสัดส่วนในแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการอนุญาตควรต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและการใช้คลื่นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในร่างฉบับใหม่ได้กำหนดหลักประกันเพิ่มเติมว่าต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่บริการสาธารณะอย่างเพียงพอ กลับขึ้นอยู่กับความประสงค์ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะกระทบต่อการจัดสรรคลื่นอย่างเป็นธรรมได้ยาก และอาจกลับไปสู่สภาพการถือครองคลื่นความถี่โดยหน่วยงานภาครัฐเช่นเดิม รวมทั้งข้อกังวลการให้บริการสาธารณะจากหน่วยงานรัฐทำให้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินและภาษีประชาชนในการเข้ามาประกอบกิจการ และหากหารายได้จากการโฆษณาได้จะมีขอบเขตอย่างไร ส่วนการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ได้กำหนดระยะเวลาในการปรับตัวไว้ ทั้งหน่วยงานรัฐที่ถือครองคลื่นต่างรับรู้แนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่นับตั้งแต่ที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 มีผลบังคับใช้ หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่จึงมีโอกาสถือครองคลื่นและประกอบกิจการในเชิงพาณิชย์ตลอดระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 15 ปี จึงไม่มีเหตุผล ที่จะต้องนำเงินของรัฐไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับหน่วยงานของรัฐเอง การกำหนดให้ กสทช.ต้องจัดส่งเงินค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่จากการประมูลให้กับกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนั้น หากกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ประสงค์จะใช้จ่ายเงินตามนโยบายของหน่วยงานย่อมควรต้องดำเนินการตามขั้นตอนงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้ง กรณีที่กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดความจำเป็นของเงินรายได้ในกองทุน กสทช. รวมทั้งสามารถขอให้นำส่วนที่เกินจำเป็นส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินด้วยนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดไว้ เนื่องจากเงินรายได้ที่ กสทช. ได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้จากการคืนคลื่นความถี่นั้น รายได้ที่จะเกิดขึ้นและอาจมีจำนวนมากย่อมมาจากการประมูล ในประเภททางธุรกิจ และภายใต้ประกาศ คสช.ฉบับที่ ๘๐/๒๕๕๗ ตลอดจนร่างกฎหมายที่มีการปรับปรุงนี้ได้กำหนดให้ กสทช. ต้องนำเงินรายได้จากการประมูลดังกล่าวนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินอยู่แล้ว รายได้ในกรณีดังกล่าวหากมาจากค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้กับประเภทบริการสาธารณะหรือประเภทบริการชุมชน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 นั้น จะมีสัดส่วนไม่มากหรือสูงเทียบเท่ากับค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในประเภททางธุรกิจที่ได้รับจากวิธีการประมูล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ