สำนักวิจัยมองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ถึงปรับตัวขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday August 1, 2005 09:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--ธ.ไทยธนาคาร
สำนักวิจัยมองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ถึงปรับตัวขึ้น โดยมีแนวต้านที่ระดับ 680-685 จุด ส่วนเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 41.50 - 42.00 บาท/ดอลลาร์
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์นี้ ( 1 - 5 ส.ค. 48 ) โดยสำนักวิจัยมองว่า ในสัปดาห์นี้ ดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ ถึงปรับตัวขึ้น โดยตลาดหุ้นไทยจะได้รับแรงหนุนจากการซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับจะมีแรงซื้อเก็งกำไรผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน สำหรับมูลค่าการซื้อขายคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากทิศทางของตลาดยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจ หลังจากธปท.ได้ปรับลดตัวเลขประมาณการลง ขณะที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่ ๆ ที่จะเข้ามากระตุ้นตลาด สำหรับกลยุทธ์ในสัปดาห์นี้คือการซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่คาดว่าผลประกอบการจะออกมาดีและมีการจ่ายเงินปันผลในรอบครึ่งปีแรก โดยดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์นี้จะมีแนวรับอยู่ที่ 670 จุดและมีแนวต้านอยู่ที่ 680 - 685 จุด สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ คือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ( เช่น SCC เป็นต้น ) , กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ( เช่น LH , SIRI ) และ กลุ่มสื่อสาร ( เช่น ADVANC , SHIN เป็นต้น )
สำหรับทางด้านค่าเงินบาท สำนักวิจัยมองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มใกล้เคียงถึงอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 41.50 — 42.00 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากตลาดคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ จะขยายตัว 3.4% ซึ่งจะทำให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 4% ภายในสิ้นปีนี้และอาจปรับขึ้นต่อไปในปีหน้า ประกอบกับเงินบาทถูกกดดันจากการปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยอดขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในระดับสูง
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงปรับลดตัวเลขการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2548 จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 เป็นประมาณร้อยละ 3.5-4.5 เหตุผลสำคัญเนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2548 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของ สำนักวิจัย มองว่า แม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงมาก แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายงบประมาณกลางปีและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐ ขณะที่ปัญหาการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด น่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการเร่งรัดในการบริหารการนำเข้า การลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล รวมทั้งการรณรงค์อย่างจริงจังในการประหยัดการใช้น้ำมัน ตลอดจนการกระตุ้นการส่งออกและผลจากการทำ FTA กับประเทศต่างๆ
ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2548
รายการ ประมาณการเดิม (เม.ย.48) ประมาณการใหม่ (ก.ค.48)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (%) 4.5 - 5.5 3.5 - 4.5
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (%) 3.0 - 4.0 4.0 - 4.5
การบริโภครวมภาครัฐและเอกชน (%) 4.5 - 5.5 4.0 - 5.0
การลงทุนรวมภาครัฐและเอกชน (%) 12.0 - 13.0 12.5 - 13.5
การส่งออก (%) 8.0 - 10.0 12.5 - 15.0
การนำเข้า (%) 14.5 - 16.5 23.5 - 26.0
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สรอ.) (-4.0) - (-5.0) (-8.0) - (-9.0)
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สรอ.) 1.0 - 2.0 (-3.0) - (-4.0)
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับทิศทางตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ (1 - 5 ส.ค. 48) สำนักวิจัยคาดว่าปัจจัยหลักที่มีผลต่อตลาดตราสารหนี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯไตรมาส 2 ที่ประกาศในวันที่ 29 ก.ค.และตัวเลขการจ้างงานเดือนก.ค.ในวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม คาดว่า ตัวเลขที่ประกาศออกมาจะมีน้ำหนักในเชิงบวกต่อการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 9 สิงหาคม ซึ่งถ้าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ประกาศออกมาสะท้อนความแข็งแกร่ง จะโน้มนำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 3.25% สู่ 3.50% ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร US Treasury และพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักวิจัย ไทยธนาคาร โทร 02-638-8406 — 9--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ