สศอ.ชี้ MPI เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน อุตสาหกรรมหลายสาขายังขยายตัวต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Friday April 3, 2015 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ขยายตัวขึ้นร้อยละ 3.6 โดยอุตสาหกรรมรายสาขา เช่นอัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ แผงวงจร ยังขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นน้ำมัน เบียร์ น้ำตาล เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังหดตัวร้อยละ 1.6 นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 23 เดือนโดยขยายตัวร้อยละ 3.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัว อาทิ การกลั่นน้ำมัน เบียร์ น้ำตาล เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หดตัวร้อยละ 1.6 จากมูลค่าส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ปรับตัวลดลง รวมทั้งการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสิ่งทอที่หดตัว อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าสำคัญรายการอื่นๆ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ แผงวงจรไฟฟ้า ยังมีการส่งออกขยายตัว ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.9 จากการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบที่ขยายตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 5. ในส่วนของอุตสาหกรรมรายสาขาหลักๆ เริ่มจากอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 178,351 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.79 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 63,945 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.79 และ การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 108,173 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.32 โดยในปีนี้ คาดว่า การผลิตรถยนต์ประมาณ 2,130,000 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.30 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 930,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.49 และ เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,200,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นั้น ภาพรวมภาวะการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 1.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.04 สินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.86 ยกเว้น Semiconductor Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.38 13.12 และ 5.32 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 4.64 6.03 และ 2.94 ตามลำดับ เนื่องจากกลุ่มเครื่องปรับอากาศได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นพัดลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65 ในขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 มีปริมาณ 1.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.47 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 23.45 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงทรงตัว ทำให้ความต้องการใช้ในประเทศและการผลิตเหล็กทรงยาว มีทิศทางที่ลดลง ร้อยละ 10.7 และ ร้อยละ 20.1 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการของภาคเอกชนที่ชะลอตัว ในขณะที่โครงการของภาครัฐในส่วนของการก่อสร้างยังไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากราคาเหล็กที่ลดลง จึงมีผลทำให้ผู้ผลิตที่ผลิตเหล็กทรงยาว ไม่มีการนำเข้าเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต ซึ่งเป็นวัตถุดิบมาผลิต ซึ่งผู้ผลิตเหล่านี้ ต่างรอดูที่ราคาเหล็กให้นิ่งก่อน สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบน พบว่า การบริโภค เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.0 แต่การผลิตในประเทศ กลับลดลง ร้อยละ 26.18 โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีการบริโภค เพิ่มขึ้น คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 76.5 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.7 และเหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.0 โดยการบริโภคที่เพิ่มขึ้น นั้นส่วนใหญ่มาจากการนำเข้า โดยในส่วนของเหล็กบางประเภท เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เริ่มมีการนำเข้าจากบางประเทศซึ่งไทยไม่เคยนำเข้าจากประเทศนั้นมาก่อน เช่น อิหร่าน เพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับการนำเข้าจากจีนลดลง เนื่องจากมีการดำเนินการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น การผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตสินค้ากลุ่มสิ่งทอปรับตัวลดลง โดยผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.11 ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนลดลง ร้อยละ 12.41 จากคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียนลดลง โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก ส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.79 ตามความต้องการใช้ในประเทศ ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชน องค์กรต่าง ๆ ใส่เสื้อสีม่วงในเดือนเมษายนเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราช โดยการส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.98 ในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอตามการขยายตัวของตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน อินเดีย และปากีสถาน ส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าส่งออกลดลง ร้อยละ 9.10 ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม และกัมพูชา สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 8.96 จากคำสั่งซื้อในตลาดสหภาพยุโรป ลดลง เนื่องจากถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหาร เป็นอุตสาหกรรมอีกด้านที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.2 เนื่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ ประมง และน้ำตาล ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 4.7 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของผลสรุปการแก้ไขวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป แต่ยังมีแนวโน้มดีจากการเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ