กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมพัฒนาข้าวเหนียว หนุน“โครงการส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวเหนียว” ส่งเสริมเกษตรกรเป็น Smart Farmer ด้านข้าวเหนียว

ข่าวทั่วไป Thursday April 9, 2015 10:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมพัฒนาข้าวเหนียว หนุน“โครงการส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวเหนียว” ส่งเสริมเกษตรกรเป็น Smart Farmer ด้านข้าวเหนียว พร้อมพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพด้วยการทำนาธรรมชาติแทนการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย ว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติให้การบริหารจัดการข้าวมีการแยกประเภทข้าวออกเป็นแต่ละชนิด เพื่อให้การดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาเกิดความชัดเจนและตรงเป้าหมาย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้นำเรื่องข้าวเหนียวมาพิจารณา เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนาไทย โดยปัจจุบันไทยมีการผลิตข้าวเหนียวเพื่อบริโภคภายประเทศร้อยละ 95 และมีการส่งออกข้าวเหนียวร้อยละ 5 ซึ่งเพาะปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนบน โดยไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเหนียวทั้งประเทศประมาณ 16.7 ล้านไร่ และมีผลผลิตประมาณ 5 – 8 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเหนียวอันดับหนึ่งในตลาดโลก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งในอาเซียนและตลาดเอเชีย ที่เป็นประเทศผู้นำข้าวเหนียวกว่าร้อยละ 50 ในตลาดโลกยังนิยมบริโภคข้าวเหนียวจากไทย อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตและการค้าข้าวเหนียวของไทย ยังประสบปัญหาทั้งด้านประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาองค์ความรู้ของชาวนา การสร้างมูลค่าเพิ่มและการตลาดซึ่งราคาข้าวเปลือกในแต่ละปีมีความผันผวนมาก ส่งผลให้ชาวนาส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนารายย่อยจากการปลูกข้าวไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย โดยมีนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย รูปแบบ แนวทางการดำเนินงานการพัฒนาการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทยเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ พร้อมทั้งควบคุม ดูแล เพื่อให้การบริหารจัดการข้าวเหนียวไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ “โครงการส่งเสริมการผลิตและการค้าข้าวเหนียว” ซึ่งมีกรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวเหนียวให้มีคุณภาพและเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวตระหนักถึงการทำนาธรรมชาติ เลิกการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนารวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเกษตรกรเป้าหมายเข้าสู่ Smart Farmer ผู้ผลิตข้าวเหนียว โดยมีเป้าหมายในการสำรวจ/คัดกรอง Smart Farmer และจัดทำฐานข้อมูลเกษตรปราดเปรื่องด้านข้าวเหนียวในกลุ่มจังหวัดเป้าหมายไม่ต่ำกว่าอำเภอละ 40 คน ตลอดทั้งส่งเสริมการปรับเปลี่ยนจากการทำนาข้าวเหนียวที่ใช้สารเคมี เป็นการทำนาธรรมชาติร้อยละ 25 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมดในไทย ในระยะเวลา 3 ปี ช่วงฤดูกาลปลูก 2558/59-2560/61 ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในช่วงฤดูนาปี 2558/59 ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น ช่วงฤดูนาปรัง 2558/59 ดำเนินการในพื้นที่ 15 จังหวัด ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวนาปรัง 10,000 ไร่ขึ้นไป ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และชัยภูมิ และฤดูนาปี 2559/60 – 2560/61 และนาปรังทุกจังหวัดที่ปลูกข้าวเหนียว จะดำเนินการไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวทั้งหมด สำหรับการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1. คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการ 2. พัฒนาศักยภาพชาวนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี 3. ส่งเสริมการทำนาตามหลักชาวนาธรรมชาติ 4. การเชื่อมโยงตลาด “เนื่องจากราคาข้าวเหนียวมีความผันผวน โดยช่วงขาขึ้นราคาจะอยู่ที่ตันละ 16,000 บาท ขณะที่ช่วงราคาลงจะอยู่ที่ตันละ 5,300-5,400 บาท จึงเป็นสินค้าที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ คาดหวังให้ราคาข้าวเหนียวอยู่ที่ประมาณตันละ 13,000 บาท โดยจะสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับการพัฒนาเป็น Smart Farmer ด้านข้าวเหนียว เพื่อส่งเสริมการเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งเชื่อมโยงระบบตลาดให้สนับสนุนข้าวเหนียวของเกษตรกร ทำให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวเหนียวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งตนเอง” นายอำนวย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ