เตรียมเปิดข้อตกลง 9 งานวิจัยมุ่งเป้า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปี 58

ข่าวทั่วไป Tuesday April 21, 2015 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สรรส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการวิจัยมุ่งเป้าด้านการแพทย์และสาธารณสุข ชุดโครงการการป้องกัน รักษา และการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ครั้งที่ 3/2558 เพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการวิจัย ประจำปี 2558 ซึ่งเปิดรับข้อเสนอโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึง 17 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา การประชุมครั้งนี้ มี นพ.ภูษิต ประคองสาย รักษาการผู้อำนวยการ สวรส. เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และ นพ.ประวิช ตัญญสิทธิสุนทร เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมประชุม โดยผลการพิจารณาคัดเลือกโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน จำนวน 9 โครงการที่เข้ากรอบโจทย์วิจัย NCD จากโครงการที่เสนอมาทั้งหมด 87 โครงการ เป็นงบประมาณที่เสนอขอการสนับสนุน รวมจำนวน 34 ล้านบาท ทั้งนี้ สวรส. ได้รับอนุมัติวงเงินเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยปีงบประมาณ 2558 จาก วช. มาทั้งสิ้น 72 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่เหลือประมาณ 38 ล้านบาทนั้น จะนำไปใช้สนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2556 – 2557 ต่อไป สำหรับ จำนวน 9 โครงการที่เข้ากรอบโจทย์วิจัย NCD ประจำปีงบประมาณ 2558 ประกอบด้วย 1.โครงการศึกษาการดำเนินโรคและผลลัพธ์ทางคลินิกของโรคไตเรื้อรังในประชากรไทย โดย รศ.ดร.พญ.อติพร อิงค์สาธิต สังกัดกลุ่มสาขาวิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผลที่คาดว่าจะได้รับ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการพยากรณ์โรคไตเรื้อรัง ที่จะนำไปสู่การวางแผนปรับปรุงวิธีการรักษาเกี่ยวกับโรคไต รวมทั้งการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อสื่อการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตเรื้อรัง โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการศึกษานำไปประยุกต์ 2.การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมวลไขมัน อาหาร และการออกกำลังในหญิงให้นมบุตรและเด็กวัยเรียนเพื่อการป้องกันภาวะอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดย รศ.ดร.พัตธนี วินิจจะกูล สังกัดสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลที่คาดว่าจะได้รับคาดว่า จะได้ข้อแนะนำและรูปแบบการส่งเสริมโภชนาการในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต ที่สอดคล้องและปฏิบัติจริงได้ในระบบบริการอนามัยแม่และเด็กในระบบสาธารณสุขของประเทศ 3.การรักษาโรคมะเร็งปอดแบบมุ่งเป้าและการค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเชิงเมตาบอลอมิคส์ในคนไทย จากการวิจัยเบื้องต้นสู่การศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่สอง โดย พญ.ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา สังกัดภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผลที่คาดว่าจะได้รับ จะช่วยทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการใช้ยา Metformin และ Aspirin ว่าสามารถใช้ป้องกันหรือลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดได้หรือไม่ และหากการวิจัยสำเร็จตามวัตถุประสงค์จะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ในการพัฒนาชุดตรวจการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในโรคมะเร็งปอดในอนาคตที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดแบบมุ่งเป้าในประชากรไทยได้ เป็นต้น 4.ประโยชน์ของการตรวจเพทสแกนด้วย F-18 florbetapir (F-18-AV-45) เพื่อประเมินการสะสมของ amyloid ในสมองในผู้ป่วยสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์, ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเล็กน้อยของความสามารถของสมองและผู้สูงอายุปกติ โดย พญ.ธัญญลักษณ์ เธียรธัญญกิจ สังกัดภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผลที่คาดว่าจะได้รับ จะทำให้ทราบถึงการสะสมของ Beta-amyloid ในสมอง เพื่อเป็นการเปรียบเทียบกับผลการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากอาการทางคลินิก รวมทั้งผลการตรวจรังสีอื่นๆ ในกลุ่มตัวอย่างประชากร เพื่อพิจารณาถึงความไวและความจำเพาะของการใช้เครื่องตรวจนี้ หากพบว่าการตรวจด้วย F-18 florbetapir มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มหรือระบุผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้ จะสามารถใช้ในการประเมินผลก่อนและหลังการใช้การรักษาเพื่อพัฒนายาหรือวิธีการป้องกันต่อไป 5.การทำนายการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี โดยการตรวจ ดอพเลอร์หลอดเลือดแดงยูเทอรีน ร่วมกับ การวัดระดับการทำนายการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี โดยการตรวจดอพเลอร์หลอดเลือดแดงยูเทอรีนร่วมกับ การวัดระดับของ fms-like tyrosine kinase (sflt-1), placental growth factor (PlGF) และ pregnancy-associated plasma protein-A (PAPP-A) ของ fms-like tyrosine kinase (sflt-1), placental growth factor (PlGF) และ pregnancy - associated plasma protein-A โดย รศ.นพ.ชำนาญ แท่นประเสริฐกุล สังกัดโครงการจัดตั้งภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลที่คาดว่าจะได้รับ หากการทำนายในกลุ่มเสี่ยงได้แม่นยำจะช่วยลดการเกิดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ เพื่อจะช่วยนำการวางแผนรักษาดูและผู้ป่วยตั้งแต่ระยะแรกของโรค ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศ 6.การพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครอง และครู ในเขตภาคเหนือ โดย นพ. สมัย ศิริทองถาวร สังกัดสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษาตัวอย่างเด็กก่อนวัยเรียนและวัยเรียนที่ได้รับการคัดกรอง ถ้าพบโรคสมาธิสั้นจะได้รับการรักษาพยาบาลและการปรับพฤติกรรม ช่วยลดการล่าช้าในการการรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง ทำให้เด็กมีโอกาสประสบคววามสำเร็จในการเรียนและพัฒนาการเชิงสังคม ซึ่งจะเกิดระบบการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นในแบบบูรณาการ ที่ต่อเนื่องในระดับโรงเรียน สถานพยาบาล และบ้าน 7.การดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง: การรักษา การเฝ้าระวัง และการป้องกันการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับการล้างไตทางช่องท้องโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ และการสร้างฐานข้อมูล โดย ดร.ภญ.ชิดชนก เรือนก้อน สังกัดภาควิชาบริบาลเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลที่คาดว่าจะได้รับเพื่อให้อายุรแพทย์โรคไตและบุคลากรทางสาธารณสุข ทราบแนวทางประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการรักษาผู้ป่วย และป้องกันภาวะเยื่อบุช่องอักเสบจากการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับการล้างไตทางช่องท้อง อีกทั้งจะช่วยให้ทราบความเข้ากันได้ของยาต้านจุลชีพกับน้ำน้ำยาล้างไต เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสมกับผู้ป่วย 8.อัตราการพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานและการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับปัจจัยการนอนหลับและระดับกรดยูริคในเลือดต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีภาวะ pre-diabetes โดย พญ. ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี สังกัดภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผลที่คาดว่าจะได้รับ จะทำให้ทราบถึงปัจจัยจากการนอนหลับและภาวะกรดยูริคในเลือดสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งถ้าพบถึงความสัมพันธ์จะมีประโยชน์ในการกำหนดมาตรการป้องกันเบาหวานในอนาคต 9.ช่องว่างในการเข้าถึงบริการ จิตเวชและภาระทางเศรษฐศาสตร์: การศึกษาระยะยาวในชุมชน โดย ผศ.นพ. ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลที่คาดว่าจะได้รับทำให้ทราบถึงข้อมูลด้านภาระทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อช่วยให้หน่วยงานด้านนโยบายวางแผนการลงทุนเรื่องระบบบริการสาธารณสุข เช่น สปสช. ตัดสินใจว่า ควรให้สิทธิในการรักษาโรคทางจิตเวชมากน้อยเพียงใด และลงทุนอย่างไรจึงจะคุ้มค่า ทั้งนี้ ระยะเวลาการดำเนินโครงการวิจัยฯ ปี 2558 เฉลี่ยการศึกษาอยู่ระหว่าง 2-3 ปี โดย สวรส. และ วช. จะเร่งดำเนินการประสานการสนับสนุนทุนและเริ่มดำเนินโครงการวิจัยให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้
แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ