วสท. จับมือ สจล.และการบินไทยผนึกกำลังลงพื้นที่ร่วมกู้ภัยแผ่นดินไหวในเนปาล ในโครงการ Thailand Hugs For Nepal

ข่าวทั่วไป Tuesday May 5, 2015 19:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น วันแห่งโศกนาฎกรรมจากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวถล่มประเทศเนปาล ได้สร้างความตระหนกและสะพรึงกลัวต่อความเสียหายรุนแรงในชีวิต โบราณสถานและที่อยู่อาศัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จับมือการบินไทย ในชื่อโครงการ Thailand Hugs For Nepal ผนึกกำลังด้านวิชาการลงพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวเนปาล ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมและบริหารจัดการชุดแรกออกเดินทาง 29 เมษายน 58 เผยโครงการระยะยาวถ่ายทอดความรู้การตรวจสอบอาคาร การก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารในพื้นที่สี่ยง การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิศวกรรมก่อสร้างบ้านตัวอย่างต้านแรงแผ่นดินไหว และอาคารเรียนต้านแรงแผ่นดินไหว ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr. Suchatvee Suwansawat) นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “เสาร์มหาวิปโยคที่ทั่วโลกต่างเศร้าสะเทือนใจจากธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวเขย่าเนปาลเมื่อ 25 เม.ย.2558 ขนาดรุนแรง 7.9 แมกนิจูด มีคนเสียชีวิตที่พบขณะนี้กว่า 6,000 ราย และบาดเจ็บกว่า 10,000 ราย ยังคงมีประชาชนติดในซากตึกและไร้ที่อยู่อาศัยและขาดแคลนปัจจัยต่างๆนับหมื่นคน ครอบคลุมเมืองกาฎมัณฑู ภักตปุระ ปาทาน และโบกขรา จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ระหว่างนครกาฏมาณฑุ และเมืองโบกขรา อันป็นแหล่งท่องเที่ยวเทือกเขาหิมาลัย และยังสะเทือนไปถึงอินเดีย ปากีสถาน จีนและพม่า วัตถุประสงค์ของความร่วมมือของ วสท.กับ สจล. และการบินไทย ในชื่อโครงการ Thailand Hugs For Nepal เพื่อระดมวิศวกรอาสา ผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษา ไปช่วยเหลือชาวเนปาลในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว เพื่อนำองค์ความรู้มาเผยแพร่แก่ชุมชนและช่างท้องถิ่นในการก่อสร้างและซ่อมแซมอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างที่แข็งแรงมั่นคง ปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัย เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีและความเอื้ออาทรระหว่างประชาชนชาวไทยและชาวเนปาล ซึ่งเป็นมิตรประเทศและเป็นแดนกำเนิดของพระพุทธเจ้า แนวทางความร่วมมือและช่วยเหลือ ได้แก่ 1. ส่งวิศวกรอาสา ผู้เชี่ยวชาญและนักศึกษาอาสาสมัคร ลงพื้นที่ประสบภัยในเนปาล เพื่อร่วมทำงานด้านวิชาการ 2. ให้คำแนะนำการบริหารจัดการแก่ทีมงานกู้ภัย 3. ถ่ายทอดความรู้และสร้างบ้านตัวอย่างต้านแรงแผ่นดินไหวเพื่อเผยแพร่แก่วงการวิศวกรรมและชุมชนในเนปาล 4. โครงการถ่ายทอดความรู้การสร้างอาคารเรียนต้านแรงแผ่นดินไหว เพื่อช่วยเหลือเยาวชนในเนปาลให้มีอาคารเรียนที่ปลอดภัยและเสียหายน้อยที่สุดหากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ 5. จัดฝึกอบรมแนวทางสำรวจทดสอบความแข็งแรงของอาคาร งานก่อสร้างและการซ่อมแซมในพื้นที่เสี่ยงแก่วิศวกร ช่างท้องถิ่น โดยร่วมมือกับสมาคม / ชมรมด้านวิศวกรรม สถาปนิกของเนปาล และเครือข่าย 6. ร่วมกับชุมชนในประเทศไทย รณรงค์การรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือชาวเนปาลผู้ประสบภัย เป็นต้น สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาลเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2558 เป็นแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก คือ แผ่นอินเดียมุดอยู่ใต้แผ่นยูเรเซีย มีการสะสมพลังงานยาวนาน 70-80 ปี ในการเคลื่อนตัวของแนวเลื่อนจะสะสมพลังงานน้อยกว่าแนวมุดตัว ซึ่งในแนววงแหวนไฟจะเป็นแนวมุดตัว ยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร นับได้ว่าจะเกิดได้ง่ายในย่านนี้ เมื่อ 80 ปีก่อน เนปาลเคยเกิดแผ่นดินไหวตอนกลางใกล้เขาเอเวอเรสต์ด้วยแรงสั่นสะเทือน 8.1 แมกนิจูด มีคนเสียชิวิต 10,000 คน มาคราวนี้เกิดสั่นสะเทือน 7.8 แมกนิจูด เมื่อแผ่นอินเดียมุดใต้แผ่นยูเรเซียนั้น การเคลื่อนตัวจะทำให้อีกซีกโลกขยับตัวและอาจเกิดแผ่นดินไหวได้ โดยทั่วไปแผ่นดินไหวขนาด 7 แมกนิจูดขึ้นไป ทั่วโลกเกิดเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 12-15 ครั้งต่อปี ซึ่งในปีนี้ได้เกิดไปแล้ว 4 ครั้ง แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเนปาลครั้งนี้อยู่ในย่านเปลือกโลกที่มีพลังเช่นเดียวกับเชียงราย และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมได้กว้างขวาง ซึ่งก็เป็นคำถามสำหรับเราคนไทยว่าหากรอยเลื่อนแม่จันมีแผ่นดินไหวขนาดเกิน 7 แมกนิจูด จะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ภาคเหนือของไทย ? และประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้หรือไม่? วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ยึดมั่นในปณิธานที่ว่า ศักดิ์ศรีวิศวกรไทย เพื่อรับใช้สังคม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในจริยธรรม และวิชาชีพของวิศวกร ดังที่ทราบ โลกปัจจุบันและอนาคตนั้น วิศวกรรมซึ่งผสมผสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลักหลายสาขา มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความเจริญก้าวหน้า นวัตกรรมและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในภาวะที่เนปาล เพื่อนบ้านของเรากำลังประสบภัยพิบัติแสนสาหัส วิศวกรและผู้มีจิตอาสาได้รวมพลัง และความรู้ความสามารถในการลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวเนปาล ก่อนหน้านี้ วิศวกรอาสา วสท.ก็ได้ลงไปช่วยเหลือประชาชนในภาคเหนือ ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวมาแล้ว นับเป็นประสบการณ์ตรงที่จะนำมาใช้ประโยชน์ต่อการบรรเทาภัยพิบัติในเนปาลได้อย่างดี รศ.ดร.สิริวัฒน์ ไชยชนะ (Assoc.Prof.Siriwat Chaichana) เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “ ขั้นตอนการบรรเทาและจัดการในพื้นที่ภัยพิบัติ เริ่มจากขั้นแรก คือการกู้ชีพช่วยชีวิตค้นหาผู้ติดในซากปรักหักพัง ระบบการลำเลียงผู้ป่วย การส่งอาหารและปัจจัยสี่ การสำรวจความเสียหายเพื่อวางแผนดำเนินการ , ขั้นตอนที่ 2 การรื้อถอนซากอาคาร และการเตรียมพร้อมบุคลากรแพทย์ พยาบาล ยารักษา โรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้บาดเจ็บทั้งทางกายและจิตใจอย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอนที่ 3 การฟื้นฟูในพื้นที่ภัยพิบัติ การเข้าตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารโดยผู้เชี่ยวชาญ และการเผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคลากรด้านก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคารในพื้นที่เสี่ยงตามหลักวิศวกรรม ความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรง เนื่องจากเนปาลเป็นพื้นที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งอยู่แล้วจากแผ่นเปลือกโลกอินเดียได้เคลื่อนตัวมาชนกับแผ่นยูเรเซียขบกันดันเผยอขึ้นมาเป็นเทือกเขาหิมาลัย เนปาลตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาหิมาลัยนี้ เรียกว่าหุบเขากาฎมาณฑู มีคนอยู่อาศัยประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อชนกัน เมื่อปล่อยพลังงานจะเป็นแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวรุนแรง เหตุที่เสียหายรุนแรงในครั้งนี้เนื่องจากแผ่นดินไหวอยู่ในระยะตื้น 17 กิโลเมตร บ้านเรือนก่ออิฐใช้ปูนเชื่อมเล็กน้อย มิใช่คอนกรีตเสริมเหล็ก และตั้งอยู่แออัด เมื่อเจอแรงแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อคตามมาก็พัง ภูมิประเทศแถบนี้ค่อนข้างสูงชัน ทำให้เกิดหิมะถล่มและดินถล่มสร้างความเสียหาย โดยรวมหุบเขากาฎมาณฑูมีมรดกโลก 6 แห่ง เฉพาะกาฎมาณฑูมีโบราณสถาน ที่เป็นมรดกโลก 43 แห่ง เสียหายนับ 10 แห่ง ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางวิศวกรรมซึ่งทาง วสท. ได้นำมาใช้ในภาคเหนือของประเทศไทย คือ โครงสร้างอาคารต้านแรงแผ่นดินไหวแบบแกงแนงเยื้องศูนย์ซึ่งได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพ ฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้าง 4 อาคารเรียนทดแทนหลังเก่าที่ถูกแผ่นดินไหว อาจจะนำองค์ความรู้นี้มาใช้ประโยชน์และเผยแพร่ความรู้แก่วิศวกรและช่างท้องถิ่น เกี่ยวกับการสร้างบ้านและอาคารที่แข็งแรงมั่นคง และปลอดภัยหากเกิดแผ่นดินไหว โดยการออกแบบให้อาคารมีความเสียหายบางส่วนตามจุดที่กำหนด เพื่อสลายพลังงาน” รศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Assoc.Prof.Komson Maleesee) คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า โครงการความร่วมมือระหว่าง สจล. วสท.และการบินไทย ในชื่อ Thailand Hugs for Nepal จะส่งทีมงานวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญชุดแรก 8 คน เดินทางสู่นครกาฏมาณฑุในวันที่ 29 เม.ย.2558 เม.ย. ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญและผ่านประสบการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ตึกถล่ม ไฟไหม้และแผ่นดินไหวเชียงราย ซึ่งขณะนี้ทางเนปาลต้องการทีมให้คำปรึกษาแนะนำการบริหารจัดการขั้นแรกคือ การช่วยเหลือเหยื่อภัยพิบัติที่ติดค้างในซากปรักหักพัง ในการช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่เนปาล คิดว่าจะเป็นประโยชน์ตั้งแต่การใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมในการให้คำปรึกษาแนะนำการวางแผน รื้อถอน และบริหารจัดการเขตประสบภัยพิบัติ จนถึงการออกแบบและเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เหมาะสม เพื่อให้อาคารมีความแข็งแรงปลอดภัย ขณะเดียวกันบุคลากรไทยและเยาวชนนักศึกษาคนรุ่นใหม่จะได้มีโอกาสใช้วิชาการความรู้มาปฏิบัติจริงตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งเสริมสร้างความเป็นผู้นำในการทำงานเป็นทีม อีกทั้งส่งเสริมการแบ่งปันช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์” ผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือเนปาล ติดต่อบริจาคผ่าน วสท.บัญชีชื่อ วสท.ร่วมกู้ภัยแผ่นดินไหวเนปาล ธ.ไทยพาณิชย์สาขาสี่แยกศรีวรา เลขที่บัญชี 140-264265-8 นอกจากนี้ทางวสท.ได้ทำเสื้อ Pray For Nepal ราคา 500 บาท รายได้ทั้งหมดช่วยเหลือเนปาล สั่งจองเสื้อได้ที่คุณณัฐวุฒิ 02-319-2410-3 ต่อ 518

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ