ก.พลังงาน สรุปผลเฝ้าระวังวิกฤตพลังงาน ตลอดช่วงเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ

ข่าวทั่วไป Friday May 8, 2015 12:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--Triple J Communication ก.พลังงาน สรุปผลเฝ้าระวังวิกฤตพลังงาน ตลอดช่วงเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ผ่านไปด้วยดี ย้ำขอบคุณความร่วมมือทุกหน่วยงานร่วมกันฝ่าวิกฤตและรณรงค์ลดใช้พลังงาน ส่งผลยอดใช้ไฟฟ้าในช่วงวิกฤต ต่ำกว่าคาด 448.6 ล้านหน่วย หรือ 24.9 ล้านหน่วยต่อวัน และโครงการ Demand Response จากผู้ประกอบการ ยังช่วยประหยัดได้สูงสุด 507 เมกะวัตต์ ชี้ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงานต่อ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานระยะยาว นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (30เมย.) กระทรวงพลังงาน ได้จัดการแถลงข่าว “สรุปผลการทำงานของศูนย์เฝ้าระวังวิกฤตพลังงาน (EC – MC)” ซึ่งถือเป็นการรองรับสถานการณ์ช่วงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงสำคัญ คือ แหล่งยาดานาระหว่างวันที่ 10 - 19 เม.ย. 2558และแหล่งซอติก้า ระหว่างวันที่ 20- 27 เม.ย. 2558 ที่ผ่านมา โดยตลอดช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงพลังงานพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันเฝ้าระวังระบบการผลิตไฟฟ้า การจัดหาเชื้อเพลิงทดแทนให้เพียงพอ และตรวจสอบคุณภาพการให้บริการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งพบว่า การดำเนินงานทั้งหมดมีการบริหารจัดการของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันด้วยดี จึงทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์ใดๆ และสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือ จนผ่านพ้นวิกฤตในช่วงเวลาดังกล่าวมาได้ด้วยดี และที่สำคัญคือความร่วมมือจากประชาชน ในการให้ความร่วมมือรณรงค์การลดใช้พลังงาน ซึ่งพบว่าตลอดช่วงการเฝ้าระวังวิกฤตพลังงานจากการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา ดังกล่าว ยอดการใช้ไฟฟ้าตลอดช่วงที่ผ่านมา มียอดต่ำกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)คาดการณ์ไว้ 448.6 ล้านหน่วย หรือเฉลี่ยวันละ 24.9 ล้านหน่วย นอกจากนี้ จากโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ซึ่งเป็นมาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะเปิดรับซื้อ “ผลประหยัดไฟฟ้า” กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ในช่วงวันที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ วันที่ 10 , 17 ,18 และ 20 เมษายน 2558 โดยมีอัตราอุดหนุน 3 บาทต่อหน่วย โดยจากผลการดำเนินงานพบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการจาก ภาคอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ (Hypermart) และโรงแรม ทั่วประเทศเข้าร่วม 937 มิเตอร์ ซึ่งสามารถร่วมกันลดใช้ไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 507.43 เมกะวัตต์ในวันที่ 17 เม.ย. และภาพรวมของโครงการฯ ทั้ง 4 วัน สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้เฉลี่ย 322.06 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 64.4% ของเป้าหมายโครงการฯ ที่กำหนดไว้ 500 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิในประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศหรือ พีค สูงถึง 27,139 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยกระทรวงพลังงานยังคงขอความร่วมมือในการรณรงค์ลดใช้พลังงานนี้ต่อไป แม้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ช่วงปกติแล้ว อาทิ การล้างแอร์ ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า เปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน และปรับเช็กเครื่องยนต์ก่อนเดินทางไกล ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ประหยัดพลังงานแบบง่ายๆ ที่ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง นายทวารัฐ กล่าวเพิ่มว่า ในช่วงระหว่างการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาที่กล่าวถึงข้างต้น ส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติไม่สามารถเดินเครื่องได้ และจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงสำรองทดแทน โดยโรงไฟฟ้า ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าหนองแซง โรงไฟฟ้าแก่งคอย โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ จำเป็นต้องเดินเครื่องด้วยน้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นมีการใช้น้ำมันเตาไปทั้งสิ้น 112.08 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซล 12.71 ล้านลิตร ทั้งนี้ในส่วนของการใช้เชื้อเพลิงทดแทนดังกล่าว สำนักงาน กกพ. จะพิจารณาในส่วนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปรหรือค่าเอฟที (Ft) ต่อไป ซึ่งคาดว่าแทบจะไม่มีผลกระทบต่อค่า Ft เลย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ