สพฉ. สรุป 5 ภัยที่เกิดกับเด็กในช่วงปิดเทอม ย้ำผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเน้นหลักปลอดภัยก่อนสูญเสีย พร้อมสอนวิธีการเอาตัวรอดให้กับเด็ก

ข่าวทั่วไป Monday May 11, 2015 12:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้รับอุบัติเหตุจนบาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิต มากช่วงหนึ่ง คือช่วงเวลาปิดเทอม โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 1-14 ปี เนื่องจากเป็นวัยของการอยากรู้อยากเห็น ทำให้ง่ายต่อการบาดเจ็บและเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้ปกครองต้องดูแลอย่าให้คลาดสายตา และอยู่ในระยะที่มือคว้าถึงเสมอ และที่สำคัญควรสอนเด็กให้รู้จักวิธีการเอาตัวรอดต่อภัยชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันไว้ด้วย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. ได้สรุปสถิติในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน พบว่า อุบัติเหตุและภัยที่เกิดขึ้นกับเด็กที่น่าเป็นห่วง มี 5 เรื่อง คือ 1.อุบัติเหตุยานยนต์ มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุกับเด็กกว่า 3,520 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ดังนั้นหากเด็กจำเป็นต้องซ้อนรถจักรยานยนต์ ผู้ปกครองควรสวมหมวกกันน็อคให้ทุกครั้ง โดยต้องเป็นหมวกที่ได้มาตรฐานและมีขนาดเหมาะสมสำหรับเด็ก นอกจากนี้ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถทุกประเภทเด็ดขาด 2. พลัดตกหกล้มจากที่สูงหรืออุบัติเหตุสิ่งของล้มทับ โดยช่วงปิดเทอมมีเด็กได้รับอุบัติเหตุกว่า 2,155 ครั้ง ดังนั้นเมื่อเด็กอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น สนามเด็กเล็ก บ้านที่มีระเบียง บันได หรืออาคารสูง ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด และควรทำที่กั้นเพื่อป้องกันเด็กพลัดตกด้วย 3. สัตว์มีพิษกัด โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ที่ผู้ปกครองมักจะพาเด็กไปเที่ยวทะเล ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกแมงกะพรุน เม่นทะเล หรือสัตว์มีพิษอื่นๆ กัด โดยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุกว่า 500 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กอายุระหว่าง 2-8 ปี ทั้งนี้เมื่อถูกแมงกะพรุนจะมีอาการปวดร้าวไปทั้งตัว ผู้ปกครองควรใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล ไม่ควรใช้น้ำจืด หลังจากนั้นควรรีบไปให้แพทย์ทำการตรวจรักษาทันที ส่วนกรณีที่โดนหนามเม่นตำ เด็กจะมีอาการบวมแดง เจ็บปวดและเป็นไข้ได้ ดังนั้นเมื่อถูหนามเม่นทะเลตำให้รีบถอนหนามออก หรือแช่แผลในน้ำร้อนเพื่อช่วยให้หนามย่อยสลายเร็วขึ้น 4. ตกน้ำ จมน้ำ ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของเด็กไทย โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำกว่า 100 ครั้ง ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลเด็กไม่ให้ไปเล่นใกล้แหล่งน้ำ หากบริเวณบ้านมีบ่อหรือตุ่มจะต้องปิดฝาไว้เสมอ ทำรั้วกั้นสระน้ำหรือบ่อน้ำ และที่สำคัญเพื่อเป็นการป้องกันควรสอนวิธีการเอาตัวรอด สอนให้เด็กว่ายน้ำและลอยตัวให้เป็น และต้องย้ำกับเด็กเสมอว่าห้ามกระโดดน้ำลงไปช่วยเพื่อนที่จมน้ำเด็ดขาด แต่ควรรีบเรียกผู้ใหญ่ให้มาช่วยเหลือแทน และ 5 อุบัติเหตุจากไฟดูด ไฟช็อต มีสถิติการเกิด 86 คร้ัง โดยเกิดเพราะเด็กนำนิ้วหรือวัตถุอื่นๆ แหย่รูปลั๊กไฟ ดังนั้นบ้านไหนที่มีปลั๊กไฟอยุ่ในระดับควรหาอุปกรณ์มาครอบปลั๊กไฟ ส่วนการช่วยเหลือผู้ถูกไฟดูด ไฟช็อตนั้น ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวน ไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้ เชือกที่แห้ง ผ้าแห้ง ผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบเหตุให้หลุดออกมาโดยเร็ว อย่างไรก็ตามหากพบผู้ป่วยฉุกเฉินควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ