ปธ.กรรมาธิการวุฒิสภา ฝรั่งเศส เยี่ยม โรงงานต้นแบบ มจธ. ด้านงานวิจัยพลังงาน รับมือ Climate Change

ข่าวทั่วไป Tuesday May 12, 2015 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--มจธ. ประธานกรรมาธิการ และคณะวุฒิสมาชิก ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศฝรั่งเศส เยี่ยมชมสถาบันฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. เพื่อสำรวจข้อมูลการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานของไทย ส่วนหนึ่งของกระบวนการก่อนการประชุม COP21 ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)ขณะที่ไทยตั้งเป้าลดการปล่อย CO2 ร้อยละ 20 ภายในปี 2020 หลายคนคงสัมผัสได้ถึงความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลายเท่าในช่วงเดือนที่มา รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงจนน่ากลัว ซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ปรากฏให้เห็นได้ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง อุทกภัย อุณหภูมิที่สูงขึ้น ระดับน้ำทะเลก็สูงขึ้น และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดเกิดจากน้ำมือมนุษย์ที่ต่างสะสมปัญหาเหล่านี้มาเป็นเวลานานนั่นเอง ด้วยเหตุนี้เองทำให้ปัจจุบันเริ่มมีหลายภาคส่วนทั่วโลกใช้วิกฤตสภาพภูมิอากาศนี้เป็นโอกาสที่จะสร้างความตระหนักให้แก่วงการพัฒนาเทคโนโลยีทั่วโลกให้กลับมาทบทวนกันอีกครั้งถึงกรอบการพัฒนารูปแบบใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา และประเทศไทยเองก็เช่นกันมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ได้ระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ยังไม่พอ ทำให้หลายหน่วยงานในประเทศกำลังทุ่มเทให้กับเรื่องนี้รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี พลังงาน และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุด รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร อธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. ได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการต้อนรับ Mr.Gerard Miquel สมาชิกวุฒิสภาในฐานประธานกรรมาธิการนำคณะวุฒิสมาชิก ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จากประเทศฝรั่งเศสที่ได้เดินทางมาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ มจธ. บางขุนเทียน โดย รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวถึงสาเหตุในการมาเยือนของคณะครั้งนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การประชุม COP21 ที่จะมีการลงนามเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2558 นี้ “ในฐานะที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพการประชุม COP21 ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) คณะทำงานจึงมีการเดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศภาคีต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจ ให้ความสำคัญต่อการประชุมครั้งนี้ และเป็นโอกาสในการรับฟังนโยบายและแผนในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโลกร้อนของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งในครั้งนี้นอกจากทางคณะฯเดินทางเข้าเยี่ยมกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศของไทยแล้ว มจธ. มีโอกาสเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาของไทยที่ประธานกรรมาธิการและคณะวุฒิสมาชิกของฝรั่งเศสเลือกมาเยี่ยมชมและดูงาน ณ สถาบันฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ เพื่อรับฟังข้อมูลผลงานการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังทำอยู่โดยเฉพาะโครงการวิจัยด้านพลังงานทดแทน ซึ่งสังเกตเห็นว่าการวิจัยด้านพลังงานชีวภาพจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ทางคณะฯยังได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและห้องทดลองด้านพลังงานทดแทนจากแก๊สชีวภาพของมหาวิทยาลัยอีกด้วย” นอกจากนั้น รศ.ดร.บัณฑิต ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องยอมรับว่าการมาเยือนของทางคณะฯครั้งนี้ ถือเป็นการมาสำรวจข้อมูลความพร้อมของประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างครอบคลุมในการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการลงนามด้วยข้อตกลงที่ใจความสำคัญคือเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ และจำกัดอุณหภูมิในสถานที่ต่างๆ ไม่ให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกิน 2 องศาเซลเซียส โดยการหาจุดยืนร่วมที่เป็นที่ยอมรับของทุกชาติภาคีกว่า 200 ประเทศทั่วโลกในการร่างข้อตกลง เพื่อเป็นกลไกการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะยาวที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากปี 2020 เป็นต้นไป รศ.ดร.บัณฑิต ยังกล่าวด้วยว่า แนวโน้มของประเทศไทยมาในทางที่ดีแล้วเพราะเริ่มมีหน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือในการพัฒนาและปรับตัว และในส่วนของการประชุม COP21 ในปลายปีนั้น ประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในระดับที่จะลงนามสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ไทยก็สัญญาด้วยความสมัครใจโดยไม่มีข้อผูกมัดซึ่งตรงกับแผนของกระทรวงทรัพยากรฯว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2020 แต่หากได้รับการช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้วไทยอาจจะลดได้มากถึง 20เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลังจากการประชุม COP21 นี้ก็จะได้รู้กันว่าประเทศต่างๆ จะมีการช่วยเหลือกันในด้านใดบ้างไม่ว่าจะเป็นความรู้ เงินทุน หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่ง มจธ.ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งการวิจัยและพัฒนาแห่งหนึ่งของไทย และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกก็จะไม่นิ่งดูดายและหมั่นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เท่าทันและรับกระแสสังคมโลกอย่างต่อเนื่องเช่นกัน.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ