ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร และแนวโน้ม “บ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง” ที่ “AA/Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 13, 2015 09:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการกระจายการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายและความแข็งแกร่งของเครือข่ายกลุ่ม ตลอดจนนโยบายการเงินและการลงทุนที่ระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงที่บริษัทในกลุ่มกำลังเผชิญในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า และอาหาร แม้ว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดจำนวนไม่มากนักแต่บริษัทยังมีสภาพคล่องจากเงินลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งช่วยสนับสนุนบางส่วนแม้ราคาหลักทรัพย์จะมีความผันผวนและไม่สามารถคาดการณ์ได้ก็ตาม แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและการรักษาสภาพคล่องทางการเงินในระดับสูงของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากลุ่มสหพัฒน์จะยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและดำรงสถานะผู้นำในตลาดหลักได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทยังไม่มีโอกาสในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้านี้จากการมีกระแสเงินสดที่จำกัดจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตอาจลดลงหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจนส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของกลุ่มสหพัฒน์และทำให้รายได้จากเงินปันผลของบริษัทลดลง หรือบริษัทมีการใช้นโยบายการก่อหนี้จำนวนมาก บริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลโชควัฒนา โดย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ตระกูลโชควัฒนาถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทจำนวน 67.9% บริษัทเป็นบริษัทโฮลดิ้งหลักของกลุ่มสหพัฒน์ซึ่งประกอบธุรกิจสวนอุตสาหกรรมและลงทุนในบริษัทต่าง ๆ รวม 151 แห่ง รายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจสวนอุตสาหกรรมและรายได้ค่าสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดของบริษัทขึ้นอยู่กับเงินปันผลจากการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ในปี 2557 บริษัทมีรายได้ทั้งหมด 4,180 ล้านบาทและมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 758 ล้านบาท โดยบริษัทที่จ่ายเงินปันผลสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มสหพัฒน์เป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศไทยซึ่งทำการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายในอุตสาหกรรมอาหาร เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องสำอาง และสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งทำหน้าที่ให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มในด้านการลงทุนแบบครบวงจร โดยบริษัทให้บริการสวนอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค การลงทุนในส่วนทุน ตลอดจนให้การช่วยเหลือทางการเงินและบริการด้านอื่น ๆ กลุ่มสหพัฒน์ได้พัฒนาเครือข่ายที่แข็งแกร่งตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการผลิตและจัดจำหน่าย ตามปกติกลุ่มสหพัฒน์จะร่วมลงทุนกับพันธมิตรจัดตั้งบริษัทและมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับหุ้นส่วนจำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศโดยหลายบริษัทเป็นบริษัทขนาดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในเครือสหพัฒน์จะดำเนินการโดย บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2557 รายได้ของกลุ่มสหพัฒน์ที่ผ่านบริษัทจัดจำหน่ายหลัก 3 รายมีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาทจากการขายสินค้าทั่วประเทศ โดยสินค้าของบริษัทประกอบด้วยตราสินค้าชั้นนำจำนวนมากในหลากหลายตลาด เช่น มาม่า วาโก้ เปา เอสเซ้นซ์ มิสทีน บีเอสซี ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายความสามารถของกลุ่มสหพัฒน์ในการรักษาสถานะทางการตลาดและประสิทธิภาพการดำเนินงานของตนเอาไว้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 บริษัทลงทุนในบริษัทต่าง ๆ รวม 151 แห่ง โดยมี 21 แห่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 1 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และ 1 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มสหพัฒน์ช่วยทำให้บริษัทได้ประโยชน์จากการมีแหล่งเงินปันผลที่หลากหลายซึ่งจะช่วยบรรเทาความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจ จากสถิติในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมีรายได้จากเงินปันผลในระดับที่สม่ำเสมอแม้ว่าบริษัทจะไม่มีอำนาจเต็มในการกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทที่เกี่ยวข้องดังกล่าวก็ตาม ทั้งนี้ ในปี 2557 จำนวนประมาณกึ่งหนึ่งของบริษัทที่เกี่ยวข้องมีการจ่ายเงินปันผล ซึ่งบริษัทที่จ่ายเงินปันผลมากที่สุด 5 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วน 59% ของเงินปันผลทั้งหมดที่บริษัทได้รับ สำหรับธุรกิจสวนอุตสาหกรรมนั้น บริษัทให้บริการสวนอุตสาหกรรม 3 แห่งซึ่งส่วนใหญ่ใช้รองรับธุรกิจด้านการผลิตของกลุ่ม โดยรายได้หลักของธุรกิจสวนอุตสาหกรรมมาจากรายได้ค่าสาธารณูปโภคและค่าบริการอื่น ๆ ส่วนรายได้จากการขายที่ดินมีจำนวนน้อยเนื่องจากบริษัทมีการขายที่ดินให้แก่บริษัทนอกกลุ่มน้อยมาก กระแสเงินสดจากธุรกิจสวนอุตสาหกรรมทั้งหมดใช้เป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและบริหารของบริษัท ทั้งนี้ หากมีการขายที่ดินได้ก็จะช่วยเพิ่มกำไรให้แก่บริษัทเพราะบริษัทมีต้นทุนราคาที่ดินต่ำ ในปี 2557 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.6% สู่ระดับ 4,180 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจสวนอุตสาหกรรมยังคงเพิ่มขึ้น 3.1% แม้ว่ารายได้จากการขายที่ดินจะลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของกลุ่มสหพัฒน์ โดยเฉพาะในธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องสำอางได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว บริษัทมีนโยบายการก่อหนี้ที่ระมัดระวัง ทั้งนี้ เงินกู้ทั้งหมดซึ่งรวมภาระการค้ำประกันให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องลดลงจาก 1,684 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 1,572 ล้านบาทในปี 2557 โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 8.8% ในปี 2556 เป็น 7.5% ในปี 2557 แนวทางในการลงทุนของบริษัทจะเป็นการร่วมทุนกับหุ้นส่วนที่มีความชำนาญและใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในการบริหารโครงการ นอกจากนี้ ในแต่ละโครงการจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทหลายแห่งในกลุ่ม ส่งผลให้การลงทุนของบริษัทในแต่ละโครงการจะไม่ใช้เงินจำนวนมาก ทั้งนี้ โดยปกติบริษัทจะมีสัดส่วนการถือหุ้นน้อยกว่า 50% ในแต่ละบริษัท ในปี 2557 สภาพคล่องของบริษัทปรับตัวอ่อนลงแต่ยังคงแข็งแกร่ง เงินปันผลรับจะเป็นกระแสเงินสดที่ใช้สำหรับลงทุนและกิจกรรมทางการเงิน โดยเงินปันผลนั้นใกล้เคียงกับเงินทุนจากการดำเนินงาน เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2557 ลดลงสู่ระดับ 758 ล้านบาทจากระดับ 876 ล้านบาทในปี 2556 เนื่องจากมีเงินปันผลและรายได้จากการขายที่ดินลดลง ดังนั้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจึงปรับลดลงจาก 52% ในปี 2556 เป็น 48.2% ในปี 2557 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวลงจาก 15.3 เท่าเป็น 13.7 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ในช่วง 12 เดือนถัดไปบริษัทจะต้องชำระหนี้จำนวน 580 ล้านบาท ทั้งนี้ ภาระหนี้จำนวน 213 ล้านบาทของบริษัทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น เมื่อพิจารณาถึงขนาดของเงินทุนจากการดำเนินงานแล้ว บริษัทมีการจัดการสภาพคล่องที่ดี นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถขายที่ดินเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องได้อีกหากต้องการเงินทุนสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่ ในเดือนธันวาคม 2558 บริษัทมีพื้นที่ว่างรอการขายในสวนอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งจำนวน 1,475 ไร่ และมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ความคล่องตัวทางการเงินของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากสภาพคล่องของการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ เมื่อพิจารณามูลค่าตลาดของเงินลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 23 แห่งคิดเป็น 16,864 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อมูลค่าตลาดของเงินลงทุนในบริษัทจดทะเบียนอยู่ที่ระดับ 9% ในปี 2557 ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มสหพัฒน์จะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยรายได้ของบริษัทจะสามารถเติบโตได้ในระดับ 4% ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงต่ำกว่า 10% จากแผนการลงทุนประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี บริษัทไม่ได้ระบุว่ามีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น สภาพคล่องของบริษัทจึงคาดว่าจะอยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมน่าจะอยู่ที่ระดับ 50% และ EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 15 เท่า บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) อันดับเครดิตองค์กร: AA แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ