ร่างพรบ.ยางผ่านสนช.แล้วรอประกาศเป็นกม.

ข่าวทั่วไป Friday May 15, 2015 11:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ รัฐมนตรีเกษตรฯ ระบุ สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยแล้ว เตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมาย มั่นใจทำให้การบริหารงานยางธรรมชาติเป็นไปอย่างครบวงจร นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ถือว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่ผ่านกฎหมายนี้สำเร็จ เนื่องจากได้มีความพยายามที่จะผ่านกฎหมายนี้มาเป็นเวลานับ 10 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) คณะรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการที่ได้ช่วยตรวจร่างอย่างรวดเร็ว รอบคอบ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้การบริหารงานยางธรรมชาติเป็นไปอย่างครบวงจร ทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย งานวิชาการ ทำให้การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่จะสนับสนุนการปลูกยาง การเพิ่มผลผลิต และการใช้ยางธรรมชาติ เกิดประโยชน์อย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับหลักสำคัญของกฎหมายนี้ ได้แก่ 1. การรวมองค์การสวนยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร (สถาบันวิจัยยาง) เข้าด้วยกัน มีกรรมการนโยบายเป็นผู้กำหนดนโยบาย ทำให้การดำเนินการและการสั่งการมีเอกภาพ สามารถสนับสนุนผู้ปลูก ผู้ประกอบการ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ทันท่วงที 2. การแก้ไขหลักการการใช้เงิน CESS เพื่อให้สามารถครอบคลุมกิจการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การพัฒนาการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติมีประสิทธิภาพขึ้น นอกเหนือไปจากการปลูกทดแทน และงานวิจัยซึ่งใช้เงิน CESS อยู่แล้ว ทั้งนี้ ในเรื่องของการควบคุมการผลิตและจำหน่ายยางตาม พ.ร.บ. ควบคุมการยางนั้น กรมวิชาการเกษตรจะต้องดำเนินการด้านการควบคุมข้อมูล การพัฒนา และควบคุมการส่งออก ตลอดจนการกำหนดคุณภาพการผลิต การพัฒนาการผลิตและจำหน่ายในอนาคต ต้องใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับควบคู่กันไป เพื่อให้นโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดไว้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ผลิตทั้งที่เป็นเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนผู้จำหน่ายยางธรรมชาติ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง มาตรการ นโยบาย และโครงการต่าง ๆ ร่วมกัน ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะทำให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ผลิตและอุตสาหกรรมยางธรรมชาติอย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ