ฟาร์แมกซ์ เชื่อมั่นในศักยภาพนักศึกษาไทย ร่วมกับ มธ. นำร่องประกวดแผนจัดกิจกรรมทางการตลาดธุรกิจร้านขายยา ในหัวข้อ “Value Proposition of PHARMAX to Customer” คุณค่าของศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ที่มีต่อผู้บริโภค ชิงทุนการศึกษากว่า 30,000

ข่าวทั่วไป Tuesday May 19, 2015 10:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--ฟาร์แมกซ์ ฟาร์แมกซ์ ศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำ เล็งเห็นความสำคัญด้านการศึกษาในเชิงปฎิบัติจริง ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนการประกวดแผนการจัดกิจรรม ทางการตลาดในหัวข้อ “Value Proposition of PHARMAX to Customer” คุณค่าของศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ที่มีต่อผู้บริโภค ชิงทุนการศึกษากว่า 30,000 บาท เพื่อให้นักศึกษาได้นำความรู้ที่ได้เรียนในวิชามาประยุกต์ใช้และเรียนรู้การทำงานการตลาดจากการลงมือปฏิบัติจริง ในงาน ฉลองเปิด ศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำฟาร์แมกซ์แห่งใหม่! ณ ศูนย์การค้าเดอะไนท์ พระราม 9 ภายใต้งบ 50,000 บาท ภก.ธัชพล ชลวัฒนสกุล กรรมการบริหาร บริษัท ฟาร์แมกซ์ รีเทล จำกัด กล่าวว่า ฟาร์แมกซ์ เป็นศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำที่ให้ความสำคัญการศึกษาอยู่แล้ว จากเดิมที่เราเป็นแหล่งฝึกงานหลักของ คณะเภสัชศาสตร์จากหลายสถาบัน โดยนักศึกษาจะต้องมาปฎิบัติงานจริงกับทางฟาร์แมกซ์ ตั้งแต่ระบบการคัดเลือก ยา เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงการจัดเก็บ การให้คำแนะนำ และวิธีการใช้ยาที่ถูกวิธีและเรียนรู้ระบบอื่นๆ ภายในศูนย์เภสัชกรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเภสัชกรที่มีคุณภาพ และเล็งเห็นว่าธุรกิจร้านขายยาค่อนข้างท้าทายในการจัดกิจกรรมการตลาด ซึ่งจะทำอย่างไร เพื่อนำเสนอร้านขายยาออกมาให้สนุกอย่างสร้างสรรค์ และสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายให้เข้าใจจุดเด่นและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค พร้อมกับเล็งเห็นว่าคนรุ่นใหม่มักจะมีความคิดสร้างสรรค์และวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ที่จะทำให้วงการร้านขายยาสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น จึงได้ปรึกษากับทางอาจารย์ผู้สอนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้ลงมือ จัดกิจกรรมการตลาดในสถานการณ์จริง ภายใต้หัวข้อ “Value Proposition of PHARMAX to Customer” คุณค่าของศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ ที่มีต่อผู้บริโภคในโอกาสฉลองเปิดสาขาใหม่ ณ. ศูนย์การค้า เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ด้านอาจารย์ผู้สอน ผศ.ดร.เกรียงสิน ประสงค์สุกาญจน์ ให้ข้อมูลว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา MM603 Marketing Problem and Consumer Psychology ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในหลักสูตร ควบตรี-โททางการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ชื่อโครงการ IBMP MM603 MARKETING CHALLENGE 2015 ซึ่งการเรียนในตำราเพียงอย่างเดียวอาจทำให้นักศึกษาไม่เห็นถึงปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการเรียนในปัจจุบันจึงต้องเรียน ทั้งทฤษฎีและลงมือปฏิบัติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ตรงทางมหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับ ศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสกับกิจกรรมทางการตลาด อย่างแท้จริง โดยมีนักศึกษาทั้งหมด 4 ทีม ได้แก่ทีม T.1,T.2,T.3 และT.4 ซึ่งแต่ละทีมได้นำเสนอแผนกิจกรรมต่อคณะกรรมจากทางมหาวิทยาลัยฯและฟาร์แมกซ์ โดยคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกทีมที่สามารถสื่อสารถึงแบรนด์ที่องค์กรต้องการ และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงแสดงรายละเอียดแผนงานได้ชัดเจนและอยู่ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม โดยทีมที่ได้รับคัดเลือกคือ ทีม T.4 ซึ่งสามารถนำเสนอแผนงานได้โดดเด่นกว่าทีมอื่นๆและอยู่ภายใต้เกณฑ์การตัดสินที่กำหนดไว้ โดยสามารถถ่ายทอดจุดเด่นของฟาร์แมกซ์ผ่านตัวอักษรของคำว่า “CARE” ซึ่งทั้ง 4 ตัวอักษรสื่อถึงบริการต่างๆ ของฟาร์แมกซ์ อย่างไรก็ตามทีมอื่นๆ ก็สามารถนำเสนอจุดเด่นที่น่าสนใจและนำเสนอแผนได้ดีเช่นกัน ดังนั้นทางคณะกรรมการจึงมีความเห็นให้นักศึกษาทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมภายในงาน โดยนำกิจกรรมเด่นๆ มาประยุกต์เพื่อให้เข้ากับแนวคิดหลักของทีมผู้ชนะ เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายและสนุก และให้นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมและได้ลงมือปฎิบัติจริงทุกคน ผศ.ดร.เกรียงสิน กล่าวเสริม นางสาวภัสสราณัฐ รวยธนาสมบัติ ตัวแทนนักศึกษาของทีมที่ได้รับคัดเลือก เล่าถึงโครงการดังกล่าวว่า จากโจทย์ในการจัดกิจกรรมภายในหัวข้อ “Value Proposition of PHARMAX to Customer” คุณค่าของศูนย์เภสัชกรรมฟาร์แมกซ์ที่มีต่อผู้บริโภค และจากสโลแกนที่ว่า “ศูนย์เภสัชกรรมโดยเภสัชกรเต็มเวลา” จึงทำให้ทางทีมได้ที่มาของแนวคิดหลักในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ นั่นคือ คำว่า CARE ซึ่งตัวอักษรแต่ละตัวอักษรมีความหมายที่สื่อบริการของฟาร์แมกซ์ผ่านกิจกรรม ภายในงานดังนี้ C- Comfortable (ความสะดวกสบายทั้งกายและใจ) A-Accurate (ความถูกต้องแม่นยำ) R- Realized (การตระหนักถึงความสำคัญ) E- Educated (การให้ความรู้) โดยกิจกรรมแต่ละกิจกรรมจะสื่อสารให้เห็นถึงแต่ละความหมายของคำศัพท์ ที่สื่อถึงบริการของฟาร์แมกซ์ที่มอบให้กับผู้บริโภคจริงๆ โดยแบ่งกิจกรรมหลักภายในงานออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้ 1.กิจกรรม Photo Booth คือตัวแทนของคำ Comfortable ซึ่งจะนำเสนอว่า เพราะฟาร์แมกซ์อบอุ่นเหมือนบ้าน กิจกรรมการถ่ายรูปสื่อถึงการเก็บความทรงจำดีๆกับคนที่เรารัก และซุ้มกิจกรรมถ่ายภาพของฟาร์แมกซ์จะให้บรรยากาศที่สื่อถึงความเป็นกันเอง อบอุ่น และน่าเก็บภาพแห่งความประทับใจ 2.กิจกรรม Interactive Game คือตัวแทนของคำ Accurate ซึ่งจะนำเสนอว่าเพราะฟาร์แมกซ์มีมาตรฐานในการจ่ายยาโดยเภสัชกรเท่านั้นตลอดเวลาทำการ โดยเนื้อหาในเกมส์ที่จะถ่ายทอดให้เห็นว่าเภสัชกรของ ฟาร์แมกซ์นั้นจ่ายแต่ยาคุณภาพและเหมาะสมกับโรค 3.กิจกรรม Plinko คือตัวแทนของคำ Realized ซึ่งจะนำเสนอว่า เพราะฟาร์แมกซ์ตระหนักถึงความปลอดภัย โดยนำเสนอผ่านเกมส์ลูกบอล ซึ่งลูกบอลแต่ละลูกจะถูกดีไซน์เป็นรูปเม็ดยา และเมื่อหยอดเม็ดยาลงไปในช่องฟาร์แมกซ์ ผู้เล่นเกมส์จะได้รับรางวัล ซึ่งใต้คำว่าฟาร์แมกซ์จะมีคำบรรยายคุณประโยชน์ที่สำคัญของการจ่ายยาโดยเภสัชกรที่เป็นจุดเด่นของฟาร์แมกซ์ไว้ เพื่อสร้างการรับรู้และการจดจำให้กับผู้บริโภค 4.กิจกรรม Pill Tablet คือตัวแทนของคำว่า Educated ซึ่งจะนำเสนอว่าฟาร์แมกซ์ เป็นศูนย์เภสัชกรรมชั้นนำที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำและจ่ายยาแบบเต็มเวลาทำการ แนะนำวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาด้านการใช้ยา หรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคยาอย่างถูกต้องจากเภสัชกรนั่นเอง ซี่งผู้เข้าร่วมในกิจกรรมจะสัมผัสได้ถึงความห่วงใยและการดูแลเอาใจใส่จากทีมงานฟาร์แมกซ์ ทุกท่าน นอกจากนี้ทุกกิจกรรมจะมีการนำเสนอจุดเด่นของฟาร์แมกซ์ ตามสโลแกนที่ว่า “ศูนย์เภสัชกรรมโดยเภสัชกรเต็มเวลา” ผ่านตัวการ์ตูนเภสัชกร “ พี่ใส่ใจ” ที่จะอยู่ในทุกซุ้มกิจกรรม นอกจากนี้ตัวแทนนักศึกษาได้บอกเล่าประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการตลาดในครั้งนี้ว่า “การได้ปฏิบัติงานจริงร่วมกับเพื่อนๆ เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในห้องเรียน การเรียนจากตำราเป็นเรื่องที่สนุก เป็นภาพที่สวยหรู ที่ฟังเหมือนง่าย ใครๆ ก็ทำได้ แต่การปฏิบัติงานจริง คือ เราจะเห็นภาพเบื้องหลังทั้งหมด ซึ่งอาจไม่ได้ง่าย เหมือนภาพเบื้องหน้าที่เห็น และความสามัคคีในทีมถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถึงแม้จะมีคนเก่งๆขึ้นเป็นผู้นำทีมแต่หากไม่มีทีมที่คอยให้ความช่วยเหลือและให้ความร่วมมือ การจัดงานครั้งนี้คงไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้การได้ปฏิบัติงานจริงยังสอนให้เกิดไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากการลงมือปฎิบัติจริง ดังนั้นการจัดกิจกรรมครั้งนี้เปรียบเสมือนการลงสนามจริง ที่จะเป็นพื้นฐานประสบการณ์สู่โลกการทำงานในอนาคต” นางสาวภัสสราณัฐ กล่าวทิ้งท้าย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ