คปก.หนุนปชช.เข้าชื่อเสนอกม. แนะสภาต้องพิจารณาภายใน 180 วัน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 3, 2015 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คปก.หนุนประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง พร้อมแนะให้สภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายฉบับประชาชนภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายดังกล่าว แม้ยุบสภาหรือสภาสิ้นอายุ ก็ต้องพิจารณาต่อ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง ข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคปก.มีความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของการมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องมีข้อกำหนดให้สภาที่ได้รับร่างกฎหมายฉบับประชาชนต้องพิจารณาภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายดังกล่าว หรือวันที่นายกรัฐมนตรีส่งคำรับรองกลับคืนมา แม้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรืออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ก็ต้องให้รัฐสภาที่เลือกตั้งขึ้นใหม่พิจารณาร่างกฎหมายของประชาชนต่อไป นอกจากนี้ คปก.ยังเสนอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างกฎหมายมีหน้าที่ให้การสนับสนุนการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายของประชาชน ทั้งนี้ คปก.ยังได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 โดยคปก.มีความเห็นว่าไม่ต้องมีการกำหนดให้มีผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายแต่ให้มีผู้แทนประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายแทน เพื่อเป็นการลดภาระขั้นตอนและเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยคปก.เสนอให้มีกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง หรือกองทุนอื่นใดที่เข้ามาสนับสนุนด้านงบประมาณด้วย และคปก.เห็นว่าไม่ควรมีการกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายในพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากการกระทำความผิดที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดโทษทางอาญาไว้เป็นฐานความผิดที่ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว จึงสามารถนำมาใช้บังคับกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้โดยตรง อีกทั้งการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นการรับรองสิทธิของประชาชน อันมีเจตนารมณ์มุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ