ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. เซ็นทรัลพัฒนา” ที่ “AA-” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 5, 2015 14:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่มูลค่า 1,000 ล้านบาท (CPN221A) ของบริษัทที่ระดับ “AA-” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้สำหรับขยายการลงทุน อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้า ตลอดจนผลงานในการบริหารศูนย์การค้าที่มีคุณภาพสูง กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ รวมถึงนโยบายทางการเงินของบริษัทที่มีความระมัดระวัง ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อใช้รองรับแผนการขยายธุรกิจของบริษัทในช่วงปี 2558-2560 ด้วย แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของศูนย์การค้าเอาไว้ได้ แม้ว่าบริษัทจะมีแผนการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็คาดว่าบริษัทจะรักษาวินัยทางการเงินในการดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้อยู่ในระดับไม่เกิน 1 เท่าได้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน ในทางตรงข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากการขยายธุรกิจทำให้สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโดยมีตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 29% รองลงมาคือ บริษัท เซ็นทรัล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกของไทย ในสัดส่วน 26% การเป็นสมาชิกในเครือเซ็นทรัลทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการมีร้านค้าหลักในเครือจำนวนมากภายในศูนย์การค้าของบริษัทซึ่งดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี ณ เดือนมีนาคม 2558 บริษัทเป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าจำนวน 25 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และในจังหวัดสำคัญ โดยมีพื้นที่ค้าปลีกรวม 1.39 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) บริษัทคงความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารศูนย์การค้าในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมดแล้ว บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 20% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากการมีอัตราการเช่าพื้นที่ในระดับสูงและรายได้ค่าเช่าของศูนย์การค้าเดิมที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ บริษัทมีอัตราการเช่าศูนย์การค้าโดยเฉลี่ยในระดับสูงกว่า 94% ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ศูนย์การค้าใหม่ ได้แก่ เซ็นทรัล เฟสติวัล สมุย และเซ็นทรัล พลาซ่า ศาลายา มีอัตราการเช่าพื้นที่ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 เท่ากับ 92% และ 94% ตามลำดับ รายได้ค่าเช่าและค่าบริการของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 20,375 ล้านบาทในปี 2557 เติบโต 12% จากปีก่อน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 รายได้ค่าเช่าและค่าบริการเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 5,271 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดศูนย์การค้าใหม่หลายแห่งและรายได้ค่าเช่าของศูนย์การค้าเดิมที่เติบโต 4% ในปี 2557 จนถึงในไตรมาสแรกของปี 2558 ในช่วง 3 ปีข้างหน้าคาดว่ารายได้ค่าเช่าและค่าบริการของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 28,000 ล้านบาทต่อปี โดยบริษัทจะมีจำนวนศูนย์การค้าทั้งหมด 35 แห่งภายในปี 2560 อัตรากำไรจากการดำเนินงานซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมของบริษัทเท่ากับ 54% ในปี 2557 และ 65% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 เพิ่มขึ้นจาก 51% ในปี 2556 และ 49% ในปี 2555 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นได้รับแรงหนุนมาจากความสามารถในการปรับขึ้นอัตราค่าเช่า การควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีขึ้น อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้นเป็น 41% ในปี 2557 และ 40% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 จาก 47% ในปี 2556 และ 59% ในปี 2555 สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทก็แข็งแกร่งขึ้น โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 36% ในปี 2557 และ 38% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) จาก 24%-28% ในช่วงปี 2555-2556 สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทได้รับแรงหนุนจากเงินสดในมือจำนวน 2,800 ล้านบาทและวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีก 9,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 แม้ว่าบริษัทจะมีความต้องการใช้เงินลงทุนจำนวนมากถึง 25,000 ล้านบาทในปี 2558 และ 16,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2561 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้น้อยกว่า 55% ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) อันดับเครดิตองค์กร: AA- อันดับเครดิตตราสารหนี้: CPN15OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 AA- CPN164A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA- CPN16OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA- CPN172A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA- CPN174A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA- CPN176A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 750 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA- CPN18OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AA- CPN21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA- CPN221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ