บลจ. กสิกรไทย พาเหรดจ่ายปันผลกองทุน FIF อีก 4 กอง รวมกว่า 800 ล้านบาท พร้อมโชว์ผลงานบริหารครึ่งปีแรก จ่ายปันผลแล้ว 26 กองทุน รวมกว่า 4,000 ล้านบาท

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 9, 2015 17:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--บลจ. กสิกรไทย นายพงศ์พิเชษฐ์ นานานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยถึงผลดำเนินงานการจ่ายปันผลกองทุนรวมของบริษัท ตั้งแต่ช่วงต้นปีถึง ณ เดือนมิถุนายน 2558 ว่าบริษัทมีการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแล้วรวม 26 กองทุน รวมเป็นมูลค่าเม็ดเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าบริษัทมีการจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ล่าสุดบริษัทได้เตรียมจ่ายปันผลกองทุนต่างประเทศอีกจำนวน 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส ดัชนีเอ็นดีคิว 100 (K-USXNDQ) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 - 31 พฤษภาคม 2558, กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน (K-CHINA) ในอัตรา 0.35 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 - 31 พฤษภาคม 2558, กองทุนเปิดเค โกลบอล แอลโลเคชั่น (K-GA) ในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 - 31 พฤษภาคม 2558 และกองทุนเปิดเค โกลบอล อิควิตี้ (K-GLOBE) ในอัตรา 0.20 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 - 31 พฤษภาคม 2558 โดยทั้ง 4 กองทุนดังกล่าวจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ เวลา 8.00 น. ของวันที่ 2 มิถุนายน 2558 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลดังกล่าวพร้อมกันในวันที่ 12 มิถุนายน 2558 นี้ รวมมูลค่าเงินปันผลทั้งสิ้น 804.43 ล้านบาท นายพงศ์พิเชษฐ์กล่าวถึงมุมมองการลงทุนในต่างประเทศว่า เศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังมีปัจจัยกดดันเรื่องการชะลอตัว เนื่องจากประเทศต่างๆ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีน ยังมีการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน ทั้งนี้ IMF ได้ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2558 ที่ 3.5% และในปี 2559 ที่ 3.8% นอกจากนี้มองว่าตลอดทั้งปีนี้ ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้จะยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาหนี้ของกรีซ ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ความผันผวนของราคาน้ำมัน รวมถึงจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกจากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ยังมีอยู่สูงจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินจากหลายประเทศ จะยังส่งผลดีต่อตลาดการเงินและตลาดทุนทั่วโลกด้วยเช่นเดียวกัน นายพงศ์พิเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับกองทุน K-GA และ K-GLOBE เป็นกองทุนที่กระจายการลงทุนทั่วโลก โดยมีข้อแตกต่างคือ K-GLOBE จะเน้นการลงทุนในหุ้น ในขณะที่กองทุน K-GA จะกระจายลงทุนในแง่ของตราสารด้วย กล่าวคือ K-GA จะลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ โดยกองทุนแม่ (Master Fund) จะปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ดังนั้น จึงช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว “ปัจจุบันกองทุน K-GA ยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ เนื่องจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ยังมีความน่าสนใจน้อย ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีสัดส่วนลงทุนในตราสารหนี้เพียง 20% ขณะที่มีสัดส่วนในหุ้นประมาณ 63% โดยให้น้ำหนักในหุ้นสหรัฐฯน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพราะมองว่าระดับราคาหุ้นค่อนข้างสูงหลังดัชนีปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จะเน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากมีมุมมองเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่น ด้านกองทุน K-GLOBE ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยให้เหตุผลด้านระดับราคาที่ปรับตัวขึ้นสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสในการปรับขึ้นค่อนข้างจำกัด ขณะที่จะให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น เอเชียและยุโรปมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากมองว่าตลาดหุ้นเหล่านี้ มีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ผลดำเนินงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา – วันที่ 4 มิ.ย 2558 กองทุน K-GLOBE ให้ผลตอบแทนที่ 9.33% และสามารถเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานดัชนีหุ้นโลก (MSCI ACWI) ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ 5.83% (ที่มา: บลจ.กสิกรไทย)” นายพงศ์พิเชษฐ์กล่าว สำหรับกองทุน USXNDQ และ K-CHINA ซึ่งจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศของตลาดใดตลาดหนึ่งนั้น นายพงศ์พิเชษฐ์ให้ความเห็นต่อไปว่า “สำหรับสถานการณ์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาสที่ 1 ส่วนใหญ่ออกมาดี โดยกว่า 71% ของบริษัท มีผลประกอบการออกมาดีกว่าค่าเฉลี่ย และช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นสู่ระดับ New High เหนือระดับ 2,100 จุด โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มไอที ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำรายได้สูงเป็นอันดับ 2 รองจากหุ้นกลุ่มสุขภาพ ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี – 5 มิ.ย 2558 ดัชนี Nasdaq ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกลุ่มไอที สามารถปรับตัวขึ้นกว่า 6% ขณะที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นประมาณ 2% อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากและอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว โดยอัตราส่วนราคาต่อกำไร (Forward P/E) ปัจจุบันอยู่ที่ 16.98 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปีที่ 16.38 เท่า (ที่มา: Bloomberg 8 มิ.ย. 2558 ) นักลงทุนจึงอาจต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มเติม” ด้านสถานการณ์ตลาดหุ้นจีน ทั้งดัชนี A-Share และ H-Share ต่างปรับตัวขึ้นแรงตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังทางการจีนได้ประกาศผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านหลักทรัพย์ โดยอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในจีนสามารถเข้าซื้อหุ้น H-Share ผ่านโครงการเชื่อมโยงตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้-ฮ่องกง โดยไม่ต้องขอโควตา ทั้งนี้การที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างเยอะ จึงมีความเสี่ยงที่อาจจะปรับฐานลงได้ในระยะสั้น ผู้ลงทุนจึงอาจอาศัยจังหวะช่วงที่หุ้นปรับตัวลงเข้าลงทุนเพิ่มเติมได้ โดยมองว่าในระยะยาว หุ้นจีนยังมีความน่าสนใจและมีโอกาสเติบโตที่ดี จากการที่รัฐบาลจีนมีแผนปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยจะเน้นพัฒนาด้านตลาดทุน ประกอบกับการอนุมัติให้ภาคเอกชนและต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคได้ รวมถึงแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของประเทศให้หันมาพึ่งพาการบริโภคมากขึ้น ทั้งนี้ กองทุน K-CHINA ของบลจ.กสิกรไทย จะมีการเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการของรัฐบาลจีนที่เน้นการเติบโตจากการบริโภคในประเทศ อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ประกัน เป็นต้น ประกอบกับ กองทุนมีการให้น้ำหนักลงทุนในหุ้น A-share และ B-share (หุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดเสินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้) ในสัดส่วนที่สูงประมาณ 15% จึงทำให้กองทุนมีความน่าสนใจและเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนในต่างประเทศ ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุน K-GA, กองทุน K-GLOBE กองทุน USXNDQ และกองทุน K-CHINA สามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือติดต่อ KAsset Contact Center 02673 3888 ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุน K-GA, กองทุน K-GLOBE กองทุน USXNDQ และกองทุน K-CHINA ได้ที่ www.kasikornasset.com หรือ บลจ.กสิกรไทย หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือขอข้อมูลดังกล่าวจากบุคคลที่เสนอขายหน่วยลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้กองทุนมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินของหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุน โดยกองทุน K-GA, กองทุน USXNDQ และกองทุน K-CHINA มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ และกองทุน K-GLOBE มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ทั้งนี้เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนจึงอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ