กรมพัฒนาธุรกิจการค้า...โชว์ ‘ข้อเท็จจริง’ ‘แย้ง’ ผลการจัดอันดับเริ่มต้นธุรกิจไทย Doing Business 2015

ข่าวทั่วไป Thursday June 11, 2015 12:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หารือร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเผยข้อมูลที่แท้จริงโต้ผลการจัดอันดับ ชี้แจงตัวชี้วัด ‘ข้อบังคับการทำงาน’ ไม่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจของไทย เป็นเพียงการปฏิบัติตามกฎหมายภายหลังมีลูกจ้างเกิน 10 คน เท่านั้น!! นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากรายงานการ จัดอันดับ Doing Business 2015 ของ World Bank ที่ได้สำรวจการจัดตั้งธุรกิจจาก 189 ประเทศ โดยจัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของประเทศที่ ‘ง่าย’ ต่อการประกอบธุรกิจ และอันดับที่ 75 ในด้านการ ‘เริ่มต้น’ ธุรกิจ ลดลงจากเดิมลำดับที่ 68 ในปี 2014 โดยใช้ตัวชี้วัด 4 ด้านคือ 1) การจองชื่อบริษัท 1 วัน 2) การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน 3) การจัดทำตรายาง 4 วัน และ 4) การจดทะเบียนจัดตั้ง การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่บัญชีนายจ้าง และการยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงาน 21 วัน รวมแล้วใช้เวลาทั้งสิ้น 27.5 วัน “จากการหารือร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กพร. และสำนักงานกฎหมาย เมื่อ 26 พ.ค. 58 มีความเห็นร่วมกันว่า การจัดอันดับดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากการสำรวจของ World Bank ได้นำขั้นตอนการยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงานมาเป็นส่วนหนึ่งของการจดทะเบียนเริ่มต้น โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาดำเนินงานถึง 21 วัน ทั้งที่ขั้นตอนดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นธุรกิจแต่อย่างใด เป็นเพียงขั้นตอนหลังจากการจัดตั้งนิติบุคคล ซึ่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้นิติบุคคลต้องแจ้งเมื่อมีลูกจ้างเกิน 10 คนขึ้นไป โดยต้องประกาศสภาพการจ้างงานให้ลูกจ้างได้ทราบภายใน 15 วัน และส่งสำเนาแจ้ง ไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน 7 วัน โดยให้มีผลใช้ทันทีเมื่อประกาศ ไม่ต้องรอการอนุมัติหรือเห็นชอบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามหากในข้อบังคับการทำงานมีเนื้อหาที่ขัดกับกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประเทศ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะแจ้งไปยังนายจ้างให้ดำเนินการแก้ไขต่อไป สำหรับธุรกิจที่จัดตั้งใหม่และยังมีลูกจ้างไม่ถึง 10 คน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในส่วนนี้” นับตั้งแต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตกลงร่วมกันกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเปิดให้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นเอกสารข้อบังคับการทำงานพร้อมกับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีนิติบุคคลรายใดยื่นข้อบังคับการทำงานมาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ใช้วิธีการยื่นต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้โดยตรง และขอย้ำว่าเป็นการยื่นหลังจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อมีการจ้างงานครบ 10 คนแล้ว
แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ