สคร.7 เตือนประชาชนเฝ้าระวัง 5 โรคหน้าฝน

ข่าวทั่วไป Thursday June 11, 2015 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี ผอ.สคร.7 เตือนประชาชนเฝ้าระวัง 5 กลุ่มโรคติดต่อที่มีแนวโน้มระบาดในช่วงหน้าฝน แนะวิธีป้องกันตัว โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมทั้งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในระยะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน มีฝน ตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และสภาพอากาศเปลี่ยนเเปลงเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิด ที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว หากประชาชนดูแลรักษาสุขภาพอนามัยไม่ถูกต้อง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆได้ง่าย จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงโรคที่จะเกิดในฤดูฝนและวิธีการ ป้องกัน โดยเฉพาะ 5 กลุ่มโรคติดต่อที่มีแนวโน้มระบาดในช่วงหน้าฝน ประกอบด้วย 1.โรคติดต่อทางระบบหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ 2.โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ โรคมาลาเรีย และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา 3.โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอหิวาตกโรคและโรคไวรัสตับอักเสบ เอ 4.โรคติดต่ออื่นๆ ได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคเลปโตสไปโรสิส 5.ภัยสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อันตรายจากสัตว์มีพิษ ภัยจากฟ้าผ่า และอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มโรคติดต่อทางระบบหายใจ (โรคปอดอักเสบและโรคไข้หวัดใหญ่) โรคมือเท้าปากและโรคไข้เลือดออก เนื่องจากพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยโรคปอดอักเสบและโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางทุกครั้งเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้จากการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 8 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ทุกคน 3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัดและโรคเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 7.ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป และ 8.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทำลายสัตว์ปีก ซึ่งกลุ่มเสี่ยงสามารถรับบริการฉีดวัคซีนฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม - 31กรกฎาคม 2558 และควรฉีดซ้ำทุกปี นพ.ศรายุธ กล่าวอีกว่า โรคไข้เลือดออก จะมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย ติดต่อกัน 2–7 วัน มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเบ้าตา บางรายมีปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร มีจุดแดงเล็กๆตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ และมักไม่มีน้ำมูก ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นวิธีการป้องกันให้ใช้มาตรการ 5 ป. ปราบยุงลาย ได้แก่ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ โดย 1.ปิด คือ ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 2.เปลี่ยน คือ เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3.ปล่อย คือ ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวรเช่น อ่างบัว 4.ปรับปรุง คือ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย และ 5.ปฏิบัติ คือปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย ทั้งหมดนี้ควรลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำทันที เพื่อป้องกันครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก “สำหรับโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก มีการระบาดทุกปี โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มเข้าหน้าฝนหรือช่วงเปิดเทอม ติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายหรืออุจจาระผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น โรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ จะรักษาตามอาการ ซึ่งอาการของโรคมักเริ่มด้วยอาการไข้ เจ็บปาก รับประทานอะไรไม่ค่อยได้ เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน และมีผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มากและจะหายเองใน 1 สัปดาห์ แต่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงหรืออาจทำให้เกิดสมองอักเสบ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งสัญญาณอันตราย ได้แก่ อาการซึม อ่อนแรง ชัก เดินเซ หอบ อาเจียน หากพบอาการเหล่านี้ควรนำส่งแพทย์โดยด่วน สำหรับวิธีการป้องกันโรคนี้คือการรักษาความสะอาดของสภาพแวดล้อม เน้นการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ