ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.ชัยนาท และ จ.พระนครศรีอยุธยา เร่งเตรียมการรับมือสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น นำเข้า ครม. ภายในวันอังคารนี้

ข่าวทั่วไป Monday June 15, 2015 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ชัยนาท และ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังสรุปสถานการณ์น้ำและการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าว) ในพื้นที่ รวมถึงผลกระทบจากการประกาศกรมชลประทาน เรื่อง ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด โดยปัจจุบัน จ.ชัยนาท มีสถานการณ์การปลูกข้าวนาปี ปี 2558/59 มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 831,487 ไร่ ปลูกไปแล้ว 357,811 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43.03 และยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก 473,676 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 56.97 ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน ได้มีแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2558 (ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 58 – 31 ต.ค. 58) จัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 5,501 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 4,600 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 450 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 450 ล้าน ลบ.ม. รวมผลการจัดสรรน้ำถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 2,529 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของแผนการจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา โดยมีการเตรียมความพร้อมและการให้ความช่วยเหลือ โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปีและพืชไร่ รวมทั้งหมด 107 เครื่อง ปัจจุบันออกใช้งาน 13 เครื่อง ได้แก่ ชัยนาท 7 เครื่อง อ่างทอง 1 เครื่อง สุพรรณบุรี 3 เครื่อง อุทัยธานี 1 เครื่อง และพระนครศรีอยุธยา 1 เครื่อง ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชัยนาทได้ประสานหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการในเบื้องต้น โดยการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบผ่านทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดชัยนาท ซึ่งครอบคลุม 8 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และนครสวรรค์ สำหรับการช่วยเหลือในระยะสั้น จะมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทุกรายที่ได้ดำเนินการปลูกข้าวไปก่อนแล้ว ประมาณ 40 % และแนะนำให้ทำการประกันภัยข้าว หากมีการประกาศภัยพิบัติจะได้รับการชดเชยความเสียหายไร่ละ 1,111 บาท ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูก และชะลอการปลูกตามประกาศของกรมชลประทาน ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อให้ทราบจำนวนทุกราย รวมถึงได้มีการแนะนำให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว และส่งเสริมด้านปศุสัตว์ เป็นต้น สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ในช่วงวันที่ 1 พ.ค. 58 – 12 มิ.ย. 58 ทั้งสิ้น 16 อำเภอ รวม 440,647.25 ไร่ มีพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะหัน และอำเภอเสนา รวม 64,661 ไร่ ซึ่งมีแนวทางการช่วยเหลือโดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีการจัดทำกิจกรรมการเกษตรที่ให้ผลผลิตในระยะสั้น เพื่อให้มีรายได้ทดแทน อีกทั้งยังต้องการให้ภาครัฐชดเชยการสูญเสียรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้หน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าไปสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ซึ่งหากมีเรื่องของฝนทิ้งช่วง จะมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบแห้งสลับเปียก และสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการเพาะปลูก จะส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น พืชที่ใช้น้ำน้อย นอกจากนี้ ยังต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อน ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับอยู่แล้วถึง 13 ฐาน นอกจากนี้ในระยะยาว จะมีการสนับสนุนระบบแหล่งน้ำในไร่นา ระบบหมุนเวียนการใช้น้ำ และบ่อน้ำตื้น เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรเกิดการใช้น้ำให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จะดูในภาพรวมทั้ง 22 จังหวัด และจะนำเสนอสถานการณ์น้ำ ผลกระทบ ความเดือนร้อนของเกษตรกร และแนวทางการช่วยเหลือในเบื้องต้น เพื่อเสนอเข้า ครม. ภายในวันอังคารที่จะถึงนี้ และจะเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนต่อไป” นายชวลิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ