TPCH เฮลั่น! ได้รับใบตอบรับซื้อไฟฟ้าระบบ Feed-in Tariff 3 โครงการรวด!! รอลุ้นอีก 2 โครงการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 16, 2015 11:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--IR network หัวเรือใหญ่ TPCH “เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล” ยิ้มร่า!! พร้อมมั่นใจรายได้สดใส หลังคว้าใบตอบรับซื้อไฟฟ้าในระบบ Feed-in Tariff 3 โรงไฟฟ้าแม่วงก์ เอ็นเนอยี-สตูล กรีน-พัทลุง กรีน เพาเวอร์ ส่วนอีก 2 โรงไฟฟ้า มหาชัย กรีน เพาเวอร์-ทุ่งสัง กรีน อยู่ระหว่างดำเนินการรอใบตอบรับ แต่มั่นใจมีโอกาสได้เกินกว่า 90% แน่นอน ระบุเร็วๆ นี้รู้ผล ขณะที่เดินหน้าลุยงานไตรมาส 2/58 ต่อเนื่อง และมั่นใจทั้งปีรายได้โต 30-40% จากปีก่อนที่ทำได้ 258.26 ล้านบาท ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงก์ เอ็นเนอยี่ กำลังการผลิต 8 MW เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/58 รับรู้รายได้ทันที หนุนผลประกอบการสดใส นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่าไตรมาส 2/2558 บริษัทยังคงมุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยผลักดันให้ผลประกอบการทั้งปีออกมาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้คือเติบโต 30-40% จากปีก่อนที่ทำได้ 258.26 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/2558 บริษัทมีรายได้หลักมาจากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรกไบโอเพาเวอร์ (CRB) จำนวน 58.78 ล้านบาท “ไตรมาส 2 ปีนี้ โรงไฟฟ้าช้างแรกได้หยุดเดินเครื่อง เพื่อซ่อมบำรุงตามแผนซ่อมบำรุงของบริษัทและให้สอดคล้องกับแผนซ่อมบำรุงสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นเวลา 8 วัน จึงไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการในไตรมาส 2 และคาดว่าผลประกอบการน่าจะออกมาดีและเป็นไปตามที่บริษัทคาดไว้ ส่วนทั้งปีก็คงจะเติบโตตามเป้าหมายอย่างแน่นอน” นายเชิดศักดิ์ กล่าว นอกจากนี้ ในปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 5 แห่ง ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงก์ เอ็นเนอยี่ (MWE),โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล มหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP),โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG),โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) โดยบริษัทคาดว่า MWE กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 3/2558 ส่วน MGP คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4/2558 ขณะที่โครงการ TSG จะสามารถจำหน่ายไฟได้ปลายไตรมาส 1/2559 และโครงการ PGP และ SGP ได้เริ่มงานก่อสร้างแล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการขอ PPA ในระบบ FiTจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยคาดว่าจะได้รับภายในเร็วๆนี้ ทั้งยังมีลุ้นใบอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าปัตตานีกรีน 1(PTG1) ขนาด 23 เมกะวัตต์ภายในเดือนนี้อีกด้วย นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อไปว่ามั่นใจว่าจะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ในปี 2558 เพิ่มจำนวน 30-50 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมั่นใจว่าในปี 2560 จะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ และในปี 2562-2563 จะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 200 เมกะวัตต์อย่างแน่นอน ในแง่กำลังการผลิต โดยจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า ใน 3 ปีครึ่ง จะส่งผลให้รายได้และกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งการเติบโตของบริษัทเป็นการเติบโตที่เป็นไปได้จริง เนื่องจากได้รับใบอนุญาตและดำเนินการก่อสร้างแล้ว จึงวางเป้าหมายที่จะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ ซึ่งบริษัทมีกลุ่มพันธมิตรที่พร้อมจะเติบโตไปตามเป้าหมายที่บริษัทได้วางไว้ “มั่นใจว่ารายได้จะออกมาสดใส หลังจากที่บริษัทได้ใบตอบรับซื้อไฟฟ้าในระบบ Feed-in Tariff 3 โรงไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล แม่วงก์ เอ็นเนอยี (MWE) ,โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน (TSG) และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) ส่วนอีก 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล มหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP),โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG) อยู่ระหว่างดำเนินการ มั่นใจเกินกว่า 90%ได้รับแน่นอน เร็วๆนี้” นายเชิดศักดิ์ กล่าว ทั้งนี้บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ "TPCH" ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ และให้บริการสนับสนุนการดำเนินการของบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยปัจจุบันบริษัทฯ ลงทุนในบริษัทย่อยที่มีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) กำลังการผลิตไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ได้แก่ PTG และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ได้แก่ CRB, MGP, TSG, MWE, PGP และ SGP โดยบริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯมีโครงการทางภาคใต้ทั้งหมด 5 โครงการ ได้แก่ CRB, TSG, PGP, SGP, และ PTG ในอนาคตอันใกล้นี้จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ครอบคลุมโซนภาคใต้และขยายไปสู่ต่างประเทศด้วยมาตรฐานระดับสากล นอกจากการดำเนินธุรกิจตามปกติของโรงไฟฟ้าแล้ว บริษัทฯ ยังมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการสนับสนุนชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงที่ตั้งโรงไฟฟ้าในการทำกิจกรรมต่างๆ และเพื่อเป็นการตอบแทนผลการดำเนินงานคืนสู่สังคมด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ