กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขานรับนโยบายรัฐบาลให้มีการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัล รองรับการให้บริการของทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เปิดตัวนวัตกรรม “ระบบคลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร” ครั้งแรกของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Thursday June 18, 2015 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังบรรยายพิเศษ เรื่อง ไอทีเกษตรกับการพัฒนาเกษตรไทยด้วย Digital Economy ในพิธีเปิดการสัมมนาวิชาการเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร ครั้งที่ 4 : เกษตรก้าวไกลด้วย Digital Economy ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 19 มิถุนายน 2558 ณ อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ สำนักหอสมุด มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ว่า ในยุคที่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้มีการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการใช้ดิจิทัลรองรับการให้บริการของทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้น การพัฒนาความรู้ในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคการผลิตหลักของประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนากระบวนการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องร่วมมือกันในการพัฒนาการเกษตรใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การส่งผ่านองค์ความรู้ด้านการเกษตรสู่ภาคประชาชน โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกร ซึ่งจะต้องสร้างความเชื่อมโยงกับสถาบันหรือการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย 2) การดูแล e-commerce และ Logistic เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรสามารถมีศักยภาพในการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) การควบคุมคุณภาพการผลิต โดยเฉพาะการตรวจสอบย้อนหลัง ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และ 4) การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้ระบบเฝ้าระวัง แล้วรายงานผลผ่านเครื่องมือ เช่น ระดับน้ำ ศัตรูพืช หรือการบริหารจัดการที่ดิน เป็นต้น โดยต้องมีการปรับปรุงพัฒนาใน 4 ด้าน คือ ระเบียบปฏิบัติในการทำงานสู่นวัตกรรมและความท้าทายใหม่ในการส่งมอบบริการภาครัฐสู่ประชาชน หรือ Single Window การนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน และสามารถนำไปใช้ได้จริง การจัดการ Big data management เพื่อกรองข้อมูลที่เป็นจริงและมีความน่าเชื่อถือ จะต้องหาทางทำให้เป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือได้ และที่สำคัญคือการปรับทัศนคติของประชาชน เพื่อเพิ่มการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน “สิ่งสำคัญที่สุดคือการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเรื่องขององค์ความรู้วิชาการด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในเรื่องของงบประมาณ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องของการบริหารจัดการ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย และสร้างการทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป” นายปีติพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ