สธ.พบทางออกของการลดรายจ่ายด้านสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday December 11, 1997 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--11 ธ.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข พบทางออกของการจัดบริการสุขภาพที่ไม่ส่งผลให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง โดยมุ่งเน้นที่การสร้างศักยภาพของบริการที่สถานีอนามัยเป็นเบื้องตัน เสริมด้วยมาตรการทางการเงิน
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขในประเทศไทยในยุคปัจจุบันว่า แม้ว่าประเทศไทยจะประสบผลสำเร็จในแง่การกระจายสถานบริการครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศแล้ว แต่ในเรื่องของคุณภาพบริหารจัดการและบริการประชาชน เป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม และจะต้องปรับให้สอดคล้องทั้งกฎหมาย สังคมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนกับผลลัพท์ด้านสุขภาพ พบว่าในปัจจุบันรัฐใช้งบลงทุนด้านสุขภาพสูง หรือภาพรวมของการใช้จ่ายด้านสุขภาพสูง ปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่รายจ่ายดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าสุขภาพของประชาชนจะดีขึ้น โดยเฉพาะสภาวะเศรษฐกิจของประเทศปัจจุบัน ค่าเงินบาทลดลงกว่าเดิมร้อยละ 50-60 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ มีผลให้การลงทุนค่ายา โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 40-48 ประมาณการณ์ว่าต้นทุนในการจัดบริการรักษาพยาบาลในสถานบริการต่าง ๆ ในปี 2541 จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 35-42 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่เราต้องปฎิรูประบบบริการสาธารณสุขและการคลังของประเทศเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วน และเจ็บป่วยจากการใช้ยวดยานพาหนะเดินทาง ในปีที่ผ่านมาเราพบว่ามีผู้ป่วยอุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง เข้ารับการรักษารวม 2,113,860 ราย ซึ่งกลุ่มโรคเหล่านี้ล้วนต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการรักษา ดังนั้นทิศทางในการดำเนินการด้านสาธารณสุขของประเทศในอนาคตจะต้องเน้นที่การป้องกัน และการส่งเสริมสุขภาพให้ป่วยน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุดแต่ได้ผลดี
โดยวิธีการนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นที่การพัฒนาศักยภาพของสถานีอนามัย ซึ่งเป็นสถานบริการเบื้องต้นที่อยู่ในชุมชน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้ประชาชนนิยมไปรับบริการที่โรงพยาบาลซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาระบบการบริการของโรงพยาบาลทุกระดับให้มีประสิทธิภาพ โดยนำระบบการเงินที่มาจากแหล่งงบประมาณปกติ ระบบประกันสุขภาพ เข้ามาเป็นกลไกในการปรับปรุงรูปแบบบริการ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยรูปแบบความเหมาะสมใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา ยโสธร ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยาและสงขลา ซึ่งจากการวิเคราะห์ค่ารักษาระหว่างสถานีอนามัยกับโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดพะเยา พบว่าการรับบริการที่สถานีอนามัยจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 2 เท่าตัว
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์กล่าวอีกว่า จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นใน 5 จังหวัด ดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตุว่า แม้ว่าปัญหาสาธารณสุขเฉพาะของแต่ละจังหวัด จะมีความแตกต่างกัน แต่ปัญหาที่วิเคราะห์ได้กลับพบว่าแต่ละจังหวัดมีปัญหาร่วมกันและสอดคล้องกัน คือ ปัญหาความอ่อนแอของบริการระดับต้น ซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่ให้บริการที่มีประสิทธิภาพ บุคลากรก็ละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบริการระดับดังกล่าว เพราะขาดแรงจูงใจที่มากพอในการปฎิบัติ ดังนั้นในแต่ละจังหวัดจึงได้พัฒนารูปแบบบริการที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งจะประเมินติดตามผลงานในปีหน้านี้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ