ผู้ประกอบการประสานเสียง ชะลอปรับขึ้นค่าแรง หวั่นกระทบราคาสินค้าอุปโภค – บริโภค เสนอรัฐบาลแก้ไขปัญหาค่าครองชีพแทน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 23, 2015 16:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศในด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนั้น โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมกับนิด้าโพล จัดทำโพลเรื่อง “แนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างปี 2559” โดยสอบถามความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ กระจายทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,303 ตัวอย่าง อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามขนาดของอุตสาหกรรม ได้แก่ ขนาดเล็ก (S) ขนาดกลาง (M) และขนาดใหญ่ (L) ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ เรื่อง “แนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างปี 2559” ซึ่งสามารถสรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้ ความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ ผ่านมา (300 บาท ทั่วประเทศ) พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.32 ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (300 บาท ทั่วประเทศ) ซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ 33.30 ระบุว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 16.96 ระบุว่า ส่งผลต่อการบริหารค่าจ้าง และส่งผลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 12.17 ระบุว่า ต้องกำหนดราคาสินค้าสูงขึ้น ร้อยละ 6.48 ระบุว่า ขาดสภาพคล่อง ร้อยละ 5.31 ระบุว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานทำได้ยาก ร้อยละ 4.84 ระบุว่า คำสั่งซื้อสินค้าลดลง ร้อยละ 2.54 ระบุว่า ขีดความสามารถในการแข่งขัน/การส่งออกด้อยลง และร้อยละ 1.46 ระบุว่า ต้องย้ายฐานการผลิต ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วน ร้อยละ 38.68 ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อถามถึงต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนของการผลิตหรือบริการโดยประมาณ ภายหลังจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.69 ระบุว่า มีต้นทุนเพิ่มขึ้น (โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 20.96) รองลงมา ร้อยละ 30.16 ระบุว่า เท่าเดิม และร้อยละ 3.15 ระบุว่า ลดลง (โดยลดลงเฉลี่ยร้อยละ 24.60) ด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน จากที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.74 ระบุว่า ประสิทธิภาพของแรงงาน เท่าเดิม รองลงมาร้อยละ 14.81 ระบุว่า เพิ่มขึ้น (โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 23.09) และร้อยละ 4.45 ระบุว่า ประสิทธิภาพของแรงงาน ลดลง (โดยลดลงเฉลี่ยร้อยละ 25.38) สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่า ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.99 ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 87 รองลงมา ร้อยละ 29.37 ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ร้อยละ 15.47 ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม ร้อยละ 9.59 ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างลอยตัวตามอุปสงค์และอุปทาน และร้อยละ 8.58 ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อการปรับอัตราค่าจ้าง พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.04 ระบุว่า ไม่ควรปรับอัตราค่าจ้าง โดยควรให้อยู่ในอัตราเท่าเดิม รองลงมา ร้อยละ 26.48 ระบุว่า ควรปรับลอยตัว ร้อยละ 14.81 ระบุว่า ควรปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น (เฉลี่ยร้อยละ 15.67) และร้อยละ 2.07 ระบุว่า ควรปรับลดลง (เฉลี่ยร้อยละ 17.53) ด้านการประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.32 ระบุว่า ไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ร้อยละ 40.68 ระบุว่า ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 66.83 ระบุว่า ขาดแคลนแรงงานประเภทแรงงานมีฝีมือ และร้อยละ 33.17 ระบุว่า ขาดแคลนแรงงานประเภทแรงงานไร้ฝีมือ สำหรับค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานเมื่อเทียบกับรายจ่ายทั้งหมดของบริษัท พบว่า บริษัทมีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน เฉลี่ยร้อยละ 34.01 (SD. = 17.16%, ต่ำสุด 1%, สูงสุด 90%) เมื่อเทียบกับรายจ่ายทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ร้อยละ 21.49 ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 21 - 40 เมื่อเทียบกับรายจ่ายทั้งหมดของบริษัท รองลงมา ร้อยละ 13.74 ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 1 - 20 และร้อยละ 12.28 ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานเฉลี่ย มากกว่าร้อยละ 40 ขึ้นไป และร้อยละ 52.49 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจการจ้างแรงงานต่างด้าว เมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมด พบว่า ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.79 ระบุว่า ไม่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ร้อยละ 36.00 มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าว และร้อยละ 7.21 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของผู้ประกอบการเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรม พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 21.82 ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรปรับขึ้นค่าแรงในขณะนี้ ควรชะลอไว้ก่อน เพราะถ้าปรับขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค – บริโภค โดยให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรหันมาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพแทน รองลงมา ร้อยละ 18.18 ระบุว่า ควรปรับค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ คุณวุฒิ และกลุ่มบุคคล (แรงงานคนไทย, แรงงานต่างด้าว) ร้อยละ 15.45 ระบุว่า ควรกำหนดตามพื้นที่/เขต/จังหวัด/ภูมิภาค ร้อยละ 13.64 ระบุว่า รัฐบาลควรสำรวจความเห็นผู้ประกอบการก่อนปรับค่าแรง และควรคำนึงถึงเศรษฐกิจโดยรวม ให้สามารถอยู่ได้ทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง และควรแจ้งข้อมูลให้ผู้ประกอบการรับทราบอย่างทั่วถึง และควรมีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากการปรับค่าแรง ร้อยละ 12.73 ระบุว่า ควรปรับตามค่าครองชีพและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 5.45 ระบุว่า ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกลตลาด/ลอยตัว ร้อยละ 4.55 ระบุว่า ควรปรับเป็นแบบขั้นบันได และอยู่ในกรอบ ไม่เกิน 300 บาทต่อวัน ร้อยละ 4.55 ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรกำหนดค่าแรง ควรให้หน่วยงานหรือองค์กรเป็นผู้กำหนดเองตามโครงสร้างองค์กร/อุตสาหกรรม เพราะในแต่ละอุตสาหกรรม มีรูปแบบของกิจการและการบริหารที่แตกต่างกันออกไป และร้อยละ 3.64 ระบุว่า แรงงานต้องหมั่นพัฒนาฝีมือทักษะด้านแรงงานด้วย และสามารถเข้าถึงแหล่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานได้อย่างทั่วถึง โดยรัฐบาลควรส่งเสริมการลงทุนให้กับแรงงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับค่าครองชีพด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ