“นพ.ประภาส” เตือน ปชช.ที่นิยมบริโภคเห็ดป่า ระวัง.! เห็ดพิษ ลักษณะคล้ายกัน อันตรายถึงชีวิต

ข่าวทั่วไป Friday July 3, 2015 16:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตก หลังจากฝนตกจะมีเห็ดขึ้นตามธรรมชาติ ตามป่าเขาจำนวนมาก มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ เช่น เห็ดระโงก เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า เห็ดไข่ห่าน เห็ดตะไคร้ เป็นต้น และมีเห็ดพิษหรือที่เรียกว่า "เห็ดเมา" มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่รับประทานได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเก็บมารับประทานจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งให้ความรู้ประชาชน ในการบริโภคเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันปัญหาเจ็บป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด จากการวิเคราะห์เห็ดพิษของไทยที่ประชาชนทั่วประเทศบริโภคและเกิดปัญหาได้บ่อย พบว่าอยู่ในกลุ่มสารพิษ 7 กลุ่ม ซึ่งมีประมาณ 12 ชนิดพิษ มีทั้งอันตรายไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงทำให้เสียชีวิต มีชื่อตามท้องถิ่น ได้แก่ เห็ดระโงกหินหรือเห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก เห็ดสมองวัว เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่ว เห็ดเกร็ดดาว เห็ดขี้ควาย หรือบางแห่งเรียกว่า เห็ดโอสถลวงจิต เห็ดไข่หงส์ เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดกรวยเกล็ดทอง เห็ดไข่เน่า เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เป็นต้น อาการเจ็บป่วยหลังกินเห็ด พบได้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุด คือ เห็ดระโงกหินหรือเห็ดไข่ตายซาก จะมีสารพิษ 2 ชนิด คือ อะมาท็อกซินส์ (Amatoxins) และฟาโลท็อกซินส์ (Phallotoxins) ทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง สารพิษในเห็ดจะทนความร้อนได้ดี ดังนั้น ถึงแม้เห็ดจะสุกแล้ว แต่ความเป็นพิษก็ยังมีสูง โดยอาการป่วยจะปรากฏหลังรับประทานเห็ดพิษประมาณ 3 ชั่วโมง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งในท้อง ประการสำคัญ "ขอให้ประชาชนระมัดระวัง อย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที และเมื่อดื่มสุราไปด้วย ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะเป็นตัวนำทางให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก โดยการรับประทานเห็ด อย่ารับประทานอิ่มจนเกินไปเพราะอาจทำให้ย่อยยาก และผู้ที่ระบบย่อยอาหารอ่อนแอ อาจเกิดอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน" นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าว นายแพทย์ประภาส วีระพล กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษส่วนใหญ่ มักเกิดจากความไม่รู้ว่าเห็ดนั้นเป็นพิษ เพราะลักษณะของเห็ดพิษกับเห็ดที่รับประทานได้ บางชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชน ดังนี้ 1.ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจ และเพาะได้ทั่วไป อย่ารับประทานเห็ดที่สงสัย ไม่รู้จัก และไม่แน่ใจ เช่น เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ 2.ไม่ควรซื้อหาเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารกิน 3.ขอให้จดจำลักษณะเห็ดพิษ ที่สังเกตง่าย ได้แก่ มีสีเข้มจัด เช่น แดง ส้ม ดำ หรือมีสีฉูดฉาด มีแผ่นหรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ด มีขนหรือหนามเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป มีกลิ่น เห็ดพิษที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ เห็ดระโงกพิษ เห็ดชนิดนี้รูปร่างจะคล้ายกับเห็ดระโงกที่รับประทานได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนขึ้นเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและกลิ่นค่อนข้างแรง เห็ดทั้ง 2 ชนิดขณะยังตูมนี้ ลักษณะจะเหมือนกันมาก จึงไม่ควรบริโภคและควรหลีกเลี่ยงการเก็บ เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงที่จะไปเจอเห็ดพิษ มีอันตรายถึงชีวิต 4.ในพื้นที่ที่เคยมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากเห็ดพิษ ขอให้ประชาชนตระหนักว่ามีเห็ดพิษชนิดรุนแรงอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากเห็ดสามารถเจริญเติบโตซ้ำได้ทุกปีในช่วงฤดูฝน 5.ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้ในการทดสอบแยกชนิดเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษหลายวิธี เช่น การต้มกับข้าวสารหรือต้มกับช้อนเงิน แล้วเปลี่ยนสี ไม่สามารถนำมาใช้กับเห็ดพิษได้ โดยเฉพาะกลุ่มเห็ดระโงกพิษได้ และ 6.การเก็บเห็ดที่มีรอยแมลงกัดกิน ไม่ได้แสดงว่าเห็ดนั้นปลอดภัย "ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพิษหลังรับประทานเห็ดพิษ หลักการสำคัญที่สุด จะต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายพิษ โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกง 3 ช้อนชา แล้วล้วงคอเพื่อให้อาเจียนโดยเร็วที่สุด แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย" นายแพทย์ประภาส กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ