นิด้าโพล : “สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3”

ข่าวทั่วไป Monday July 6, 2015 09:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--นิด้าโพล ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 2 กรกฎาคม 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจาย ทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อเพศที่ 3 ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านาม กฎหมายการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน และการเพิ่มช่องเพศทางเลือกในการกรอกเอกสารราชการ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมี ค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากการสำรวจ เมื่อถามถึงการยอมรับของประชาชนกรณีหากมีเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานในองค์กรเป็นเพศที่ 3 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.72 ระบุว่ายอมรับได้ เพราะ ควรวัดกันที่ความสามารถและนิสัยใจคอเป็นหลัก ไม่ควรเอาเรื่องเพศมาตัดสิน ถือเป็นคนในสังคมเหมือนกันทุกคน อีกทั้งมีเพื่อนเป็นเพศที่ 3 ที่คอยสร้างความสนุกสนานและเพิ่มสีสันให้กับชีวิต ร้อยละ 10.00 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะไม่ชอบเป็นการส่วนบุคคล และร้อยละ 1.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2556 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่ยอมรับได้และไม่สามารถยอมรับได้นั้น ไม่แตกต่างกันมาก โดยผลการสำรวจ ปี 2556 พบว่า ร้อยละ 88.49 ยอมรับได้ ร้อยละ 8.79 ไม่สามารถยอมรับได้ และไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 2.72 ด้านการยอมรับของประชาชนกรณีหากมีสมาชิกหรือคนในครอบครัวเป็นเพศที่ 3 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.92 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะ ในเมื่อเป็นไปแล้วก็ต้องทำใจยอมรับ ยังถือว่าเป็นคนในครอบครัว ไม่สามารถตัดขาดกันได้ เพียงแต่ขอให้เป็นคนดี สามารถดูแลตัวเองได้ก็พอ และในบางครอบครัวก็มีสมาชิกเป็นเพศที่ 3 อยู่เหมือนกัน รองลงมา ร้อยละ 16.80 ระบุว่า ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะ เป็นการฝืนธรรมชาติ ถือเป็นภาพลักษณ์ของครอบครัว ไม่ชอบเป็นการส่วนบุคคล และร้อยละ 3.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2556 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่ยอมรับได้และไม่สามารถยอมรับได้นั้น ไม่แตกต่างกันมาก โดยผลการสำรวจ ปี 2556 พบว่า ร้อยละ 77.56 ยอมรับได้ ร้อยละ 17.25 ไม่สามารถยอมรับได้ และร้อยละ 5.19 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการอนุญาตให้เพศที่ 3 สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เกินครึ่ง ร้อยละ 53.20 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ บางคนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเพศไหน อาจเกิดความสับสนวุ่นวายตามมา เช่น การตามหาตัวบุคคล การติดต่อเอกสารหน่วยงานต่าง ๆ ควรใช้คำนำหน้าตามเพศสภาพเดิม ขณะที่ ร้อยละ 39.44 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ถือว่าทุกเพศควรมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ควรเน้นไปที่กลุ่มเพศที่ 3 ที่แปลงเพศแล้ว และร้อยละ 7.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วยนั้น ร้อยละ 95.33 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เพศที่ 3 กลุ่มกระเทยที่แปลงเพศแล้วสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้ รองลงมา ร้อยละ 90.06 ระบุว่า ควรรวมถึงกลุ่มทอมที่แปลงเพศแล้วด้วย ร้อยละ 30.83 ระบุว่า ควรรวมถึงกลุ่มทอมที่ยังไม่แปลงเพศ และร้อยละ 28.60 ระบุว่า ควรรวมถึงกลุ่มกระเทยที่ยังไม่แปลงเพศด้วย และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2556 พบว่า มีสัดส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยผลการสำรวจ ปี 2556 พบว่า มีประชาชน ร้อยละ 43.53 ที่ไม่เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 42.01 ระบุว่า เห็นด้วย และร้อยละ 14.46 ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่าเห็นด้วย กับการเปลี่ยนคำนำหน้าของเพศที่ 3 ในกลุ่มต่าง ๆ นั้น ร้อยละ 92.97 เห็นว่าควรเป็นกระเทยที่แปลงเพศแล้ว รองลงมา ร้อยละ 81.75 ระบุว่า ควรรวมถึงทอมที่แปลงเพศแล้ว ร้อยละ 25.48 ระบุว่า ควรรวมถึงกระเทยที่ยังไม่แปลงเพศ และร้อยละ 25.29 ระบุว่า ควรรวมถึงทอมที่ยังไม่แปลงเพศ ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการออกกฎหมายยอมรับการจดทะเบียนคู่ชีวิต (สมรส) ของบุคคลเพศเดียวกัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.20 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ถือเป็นเรื่องความรักของคนสองคน ควรมีสิทธิเท่าเทียมเหมือนกันกับชาย – หญิง ทั่วไป ซึ่งเราไม่สามารถไปบังคับจิตใจใครได้ ประกอบกับยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น ดังจะเห็นได้ในต่างประเทศและสังคมทั่วไปที่เพศเดียวกันคบหากันมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 35.04 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการฝืนกฎธรรมชาติที่ว่า เพศชายต้องคู่กับเพศหญิง และยังขัดต่อหลักของศาสนาในบางศาสนา และอาจมีผลกระทบในทางกฎหมายเมื่อถึงคราวต้องเลิกรากันไป และร้อยละ 5.76 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ ปี 2556 พบว่า มีสัดส่วนผู้ที่เห็นด้วยเพิ่มขึ้น โดยผลการสำรวจ ปี 2556 พบว่า มีประชาชน ร้อยละ 52.96 ที่เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 33.87 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 13.18 ไม่แน่ใจ ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเพิ่มทางเลือกในการกรอกข้อมูลด้านเพศของเอกสารราชการทุกชนิด ให้มีคำว่า เพศที่ 3 หรือ เพศทางเลือก นอกเหนือไปจาก เพศชายและเพศหญิง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.36 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้เป็นการระบุให้ชัดเจน เป็นการเพิ่มช่องเพศให้ตรงกับเพศที่อยากจะเป็น และง่ายต่อการระบุหรือจัดประเภท รองลงมา ร้อยละ 35.12 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่สามารถแยกแยะเพศสภาพที่แท้จริงได้ อาจเกิดปัญหาตามมา ควรระบุให้ตรงกับเพศสภาพภายนอกเช่นเดิม และร้อยละ 5.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 16.32 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 17.84 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.16 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 52.32 เป็นเพศชาย ร้อยละ 47.60 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 10.08 มีอายุ น้อยกว่า 25 ปี ร้อยละ 24.08 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 25.84 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.28 มีอายุ 46 – 60 ปี ร้อยละ 8.08 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 94.72 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.84 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.04 นับถือศาสนาคริสต์และอื่น ๆ และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 29.36 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 67.68 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 2.48 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.48 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 21.12 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 30.56 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.80 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 32.40 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 6.40 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 16.48 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 13.76 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่าง ร้อยละ 27.60 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 7.52 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 16.24 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 12.40 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ตัวอย่างร้อยละ 5.20 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 15.68 ไม่มีรายได้ ตัวอย่าง ร้อยละ 17.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 32.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 13.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 7.12 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 6.96 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 7.36 ไม่ระบุรายได้
แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ