มทร.ธัญบุรี สร้างนวัตกรรมประกอบการสอน กระตุ้นการเรียนรู้-สร้างความสนใจของนักเรียน

ข่าวทั่วไป Friday July 10, 2015 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี กระบวนการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่ครูจะใช้วิธีเขียนบนกระดานหน้าชั้นเรียน หรือบรรยายยกตัวอย่างให้นักเรียนจิตนาการนึกภาพตาม คงทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายและไม่สนใจเรียน วันนี้ครูต้องปรับตัวและหันมาใช้เทคโนโลยีต่างๆ เป็นสื่อประกอบการสอน กระตุ้นความสนใจให้เด็กหันมาตั้งใจเรียน เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันเข้าถึงได้ง่าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จึงได้ผลิตนวัตกรรมสื่อประกอบการสอนขึ้น เพื่อนำไปเป็นสื่อประกอบการสอน ช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นวัตกรรมชิ้นแรกคือ "สื่อภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ เรื่องอวัยวะภายในร่างกาย วิชาชีววิทยา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย" ฝีมือการสร้างสรรค์ของ นายอรรถพร คำรังสี และนายชาคริต พนมกาญจนรักษ์ เพื่อแก้ปัญหาการเรียนรู้ในด้านของการนำเสนอภาพที่ไม่ชัดเจน ให้เกิดความชัดเจนเสมือนกับได้เห็นวัตถุจริง ผู้เรียนสามารถเข้าใจบทเรียนได้ง่าย โดยมีอาจารย์ธงชาติ พิกุลทอง อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม พร้อมด้วยครูสุภลักษณ์ สวัสดิ์นะที ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ เป็นที่ปรึกษา "เรานำทฤษฎีจากหนังสือแบบเรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่4-6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 เรื่องชีววิทยา , ชีววิทยา 1, ชีววิทยา 2 และชีววิทยา 3 มาวิเคราะห์เนื้อหาและนำเนื้อหาดังกล่าวไปปรึกษากับอาจารย์ผู้สอนวิชาชีววิทยาและอาจารย์ที่ปรึกษา จนได้ข้อสรุป มาสร้างเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ เรื่องอวัยวะภายในร่างกาย วิชาชีววิทยา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบไปด้วย ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย โดยสร้างเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อใช้เป็นสื่อช่วยสอนของอาจารย์ผู้สอนวิชาชีววิทยา โดยใช้โปรแกรม Autodesk 3ds Maxใช้สำหรับทำโมเดลสามมิติ อะนิเมชั่น โปรแกรม Unity3D ใช้สำหรับสร้างและออกแบบหน้าต่างการใช้งานโปรแกรม และ Adobe Photoshop CS6 ใช้สำหรับสร้างพื้นผิวและตกแต่งรูปภาพเพื่อเป็นแบบในการสร้างโมเดล" "สื่อภาพเคลื่อนไหว 3 มิตินี้ สามารถแสดงอวัยวะภายในร่างกายแต่ละอวัยวะและแสดงระบบการทำงานต่าง ๆ ได้ และสามารถเลือกอวัยวะที่ต้องการศึกษาได้ ซึ่งสามารถหมุนโชว์ชิ้นส่วนอวัยวะได้ 360 องศา เพื่อแสดงให้เห็นลักษณะโครงสร้างได้ชัดเจน โดยใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ Windows" อีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจไม่แพ้กัน คือ "สื่อมัลติมีเดียประกอบการสอน วิชาทัศนศิลป์" ผลงานของนางสาวกันยารัตน์ เนตรแสงศรี และนายวุฒิชัย หมู่มาก โดยมีอาจารย์ธงชาติ พิกุลทอง อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม พร้อมด้วยอาจารย์พรศักดิ์ พันธ์ประสงค์ อาจารย์ประจำวิชาทัศนศิลป์ โรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มทร.ธัญบุรี เป็นที่ปรึกษา "สื่อมัลติมีเดียประกอบการสอนที่สร้างสรรค์นี้ เป็นสื่อที่มีรูปแบบการปฏิสัมพันธ์สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีเนื้อหา แบบทดสอบ และเกม สอดแทรกอยู่ โดยใช้เนื้อหาจากหนังสือประกอบการเรียนการสอนวิชาทัศนศิลป์ เพื่อให้ครูใช้ประกอบการสอนและคอยแนะนำนักเรียน ในแต่ละหน้าของสื่อจะมีภาพเคลื่อนไหว มีตัวการ์ตูนอะนิเมชั่น มีเสียงอ่านของแต่ละเนื้อหาตามหน่วยการเรียนรู้ มีกิจกรรมให้นักเรียนได้ทดลองทำ เมื่อจบหน่วยการเรียนรู้ของแต่ละหน่วยจะมีแบบทดสอบเพื่อพัฒนาทักษะ และเมื่อทำครบทุกข้อจะมีการรวบรวมคะแนน" "การออกแบบส่วนต่าง ๆ ได้ใช้ Story Board เป็นตัวช่วยในการออกแบบรายละเอียดของงาน ใช้โปรแกรมAdobe Flash CS6 จัดทำสื่อมัลติมีเดียประกอบการสอน และใช้โปรแกรม Action Script 3.0 เขียนโค้ดเพื่อควบคุมการทำงาน และปุ่มต่าง ๆ รวมถึงใช้โปรแกรม Adobe Audition CS6 ในการบันทึกเสียง และตัดต่อเสียง โดยออกแบบมาเพื่อใช้งานบนคอมพิวเตอร์และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์" นับว่า ทั้งสองนวัตกรรมประกอบการสอนนี้ สามารถนำไปเป็นสื่อการสอนสำหรับครูผู้สอน หรือให้นักเรียนนำไปทบทวนหลังจากเรียนได้ ทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดความสนใจ ทั้งยังช่วยทำให้นักเรียนรู้จักเลือกใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ผู้สนใจสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 549 4700
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ