พม. จัดกิจกรรม Kick Off โครงการนำร่องการเสริมพลังอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อส่งเสริมสวัสดิการและคุณภาพชีวิตผู้พ้นโทษ

ข่าวทั่วไป Monday July 13, 2015 14:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๑๐ ก.ค.๕๘) เวลา ๑๑.๓๐ น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick Off โครงการนำร่องการเสริมพลังอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อส่งเสริมสวัสดิการและคุณภาพชีวิตผู้พ้นโทษ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนทั้งสิ้น ๔๕๐ คน ประกอบด้วย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนำร่อง ๔ จังหวัด และเจ้าหน้าที่ ประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่นำร่องและผู้เกี่ยวข้องณ ห้องมรกต โรงแรมอินทรา รีเจนท์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มีระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ว่าด้วยอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๗ มีเป้าหมายจะพัฒนาอาสาสมัครของกระทรวง ให้มีศักยภาพในการทำงานอย่างมีเอกภาพ โดยบูรณาการแผนงานของทุกกรม เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงานด้านอาสาสมัครของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวง จะร่วมกันกำหนดภารกิจให้กับ อพม. เพื่อส่งเสริมให้ อพม. มีบทบาทที่ชัดเจนในการทำงานด้านสังคม โดยกำหนดใช้คำว่าอาสาสมัครของกระทรวง หรือ อพม. เพียงคำเดียว ซึ่งจะมีผลให้ทิศทางและกระบวนงานการพัฒนาอาสาสมัครมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดทำทะเบียนของ อพม. การจัดทำบัตรประจำตัว อพม. การฝึกอบรมด้วยหลักสูตรพื้นฐานที่เตรียมไว้สำหรับ อพม. การเพิ่มศักยภาพให้ อพม. การรับรองหลักสูตรฝึกอบรมที่จะทำให้ อพม. มีความรู้และเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ด้านการดูแลคนพิการ หรือผู้สูงอายุติดเตียง เป็นต้น การจัดสวัสดิการแก่ อพม. ตลอดจนการยกย่องเชิดชูเกียรติ อพม. ที่มีผลงานดีเด่น นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังได้กำหนดให้ อพม. มีบทบาทในการให้การรับรอง ติดตาม กลุ่มเป้าหมายของโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาเด็ก (Child support grant) ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาล ที่จะเริ่มดำเนินการนำร่องในปี ๒๕๕๙ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๘ แก่นักโทษทั่วประเทศ จำนวน ๓๘,๐๐๐ คน และได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดมาตรการในการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้พ้นโทษและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการยอมรับจากสังคมและไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับมอบหมายให้ดูแลช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมแก่ผู้พ้นโทษและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบหรือประสบปัญหาความเดือดร้อน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) ได้จัดทำ "โครงการนำร่องการเสริมพลังอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อส่งเสริมสวัสดิการและคุณภาพชีวิตผู้พ้นโทษ" ขึ้นมา เพื่อพัฒนากระบวนการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิคนกลุ่มดังกล่าว โดยจะมีกลไก อพม. ที่จะนำนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สู่การปฏิบัติกับกลุ่มเป้าหมายที่อาจอยู่ในสภาวะยากลำบาก หรือยังเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการที่ควรได้รับ เพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าว ได้รับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีต่อไป สำหรับโครงการ นำร่องดังกล่าวจะดำเนินการใน ๔ จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ลำพูน อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สมุทรสงคราม และกรุงเทพฯ "กิจกรรม Kick Off ในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่จะได้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์และความพร้อมของ อพม. ที่จะร่วมมือเพื่อปฏิบัติงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งจะเกิดกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกลไกการส่งเสริมสวัสดิการและคุณภาพชีวิตผู้พ้นโทษ และเพิ่มศักยภาพ อพม. ในการดูแลช่วยเหลือผู้พ้นโทษและครอบครัว รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมในชุมชนเพื่อสร้างการยอมรับและปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้พ้นโทษด้วยวิถีวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น กิจกรรมส่งเสริมสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้พ้นโทษและครอบครัว โดยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ซึ่งจะมีการสรุปและถอดบทเรียน เพื่อขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อมั่นใน อพม. ที่จะเป็นภาคีการทำงานกับภาครัฐ "ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ" เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยสร้างโอกาส การเข้าถึงบริการของภาครัฐ ร่วมสร้างสังคมไทยที่ "มุ่งสู่สังคมคุณภาพ" และในการให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษ ควรเป็นในรูปแบบคู่ขนาน ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างทักษะ เพื่อให้ผู้พ้นโทษได้รับการยอมรับ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ