ไทยจับมือออสเตรเลีย พัฒนาเทคนิคลดวิกฤติเครียดทางจิตของผู้ป่วยเอดส์

ข่าวทั่วไป Wednesday August 20, 1997 11:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--20 ส.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์เกือบ 100% ถูกซ้ำเติมด้านสุขภาพจิต บางรายรุนแรงถึงฆ่าตัวตาย จึงได้จับมือกับประเทศออสเตรเลีย พัฒนาเทคนิคให้การดูแลสภาพจิตใจของผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว โดยนำร่องที่โรงพยาบาลในภาคเหนือ 4 แห่ง และที่บำราศนราดูร
วันนี้ (19 สิงหาคม 2540) เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนาม ระหว่าง นายแพทย์ปรีชา อินโท อธิบดีกรมสุขภาพจิต กับ Albion Street Centre โดย Dr.Deborah Green ผู้บริหารการสาธารณสุขรัฐซิดนีย์ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศออสเตรเลีย โดยวัตถุประสงค์ของการลงนามครั้งนี้เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเทคนิคและสร้างมาตรฐานในบริการการดูแลด้านสภาพจิตใจ สังคมของผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ เพื่อลดความกดดันทางอารมณ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยคิดสั้นหรือมีพฤติกรรมประชดสังคมภายหลังทราบว่าตนเองติดเชื้อเอดส์
โดยความร่วมมือครั้งนี้จะมีระยะเวลานาน 5 ปี โดยจะเน้นที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและสื่อด้านสาธารณสุขที่ทันสมัย มีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและบุคลากร การดำเนินโครงการวิจัยร่วม และการสนับสนุนหลักสูตรการฝึกอบรม ผู้ให้คำปรึกษาปัญหาเอดส์ ทั้งนี้เนื่องจาก Albion Street Centre เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการจัดบริการผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้ออย่างครบวงจรในลักษณะไปเช้า-เย็นกลับ มาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี ซึ่งในแง่ของการจัดบริการเช่นนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะนี้ออสเตรเลียได้มีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน และฮ่องกง เช่นเดียวกับไทย
สำหรับพื้นที่นำร่องที่จะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศออสเตรเลียครั้งนี้ จะดำเนินการที่โรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ ร.พ.บำราศนราดูร ร.พ.สันทราย ร.พ.สันป่าตอง ร.พ.ดอยสะเก็ด และโรงพยาบาลแม่และเด็กในจังหวัดเชียงใหม่ และที่สำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต 10 จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย
นายสรอรรถ กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้ยังต้องต่อสู้กับปัญหาเอดส์อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำกลยุทธต่าง ๆ มาใช้ ซึ่งรวมทั้งการจัดบริการดูแลด้านสุขภาพจิตด้วย โดยอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกฝ่าย จากการศึกษาพบว่าผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์เกือบ 100% ประสบปัญหาสุขภาพจิตมีความวิตกกังวล บางรายอาการรุนแรงถึงฆ่าตัวตาย โดยในปี 2537-2538 พบว่าผู้ป่วยเอดส์ในภาคเหนือมีการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น ๆ เฉลี่ยวันละ 2 ราย อีกทั้งผู้ติดเชื้อเอดส์ยังต้องเผชิญปัญหาที่แตกต่างจากผู้ป่วยโรคอื่นคือการถูกรังเกียจจากสังคมจากพฤติกรรมที่ทำให้ติดเชื้อและยังถูกมองเหมือนเป็นตัวเชื้อโรคด้วย ซึ่งหากไม่หาวิธีบรรเทาปัญหา ในอนาคตคาดว่าเรื่องสุขภาพจิตจะเป็นเรื่องใหญ่ของกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว รวมทั้งผู้ให้บริการด้วย โดยเฉพาะการเสียชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ จะมีส่วนทำลายความรู้สึกของผู้ให้บริการ ทำให้หมดกำลังใจได้เช่นกัน
ทางด้านนายแพทย์ปรีชา อินโท อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้จัดอบรมผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่ผู้ติดเชื้อเอดส์แล้ว 12,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งจากการประเมินผลการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าสามารถช่วยบรรเทาปัญหาของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ได้ในระดับหนึ่ง และเป็นบริการที่จัดได้ตรงความต้องการ ทำให้มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต และมั่นใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป ส่วนพฤติกรรมอนามัยที่เหมาะสมนั้น พบว่าผู้ติดเชื้อยังคงมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ แต่มีการป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย มีการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีในการสร้างคุณภาพชีวิตแก่ผู้ติดเชื้อ และการร่วมมือกับประเทศออสเตรเลียครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้วิธีการที่จะสามารถนำมาประยุกต์ในการจัดบริการให้คำปรึกษาในประเทศไทยได้เหมาะสมยิ่งขึ้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ