“คิดให้ดี ทำให้พอ” มจธ. คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB CAMP) รุ่นที่ 5 ครั้งที่ 1

ข่าวทั่วไป Tuesday July 14, 2015 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--มจธ. "คิดให้ดี ทำให้พอ" เป็นโครงการที่จะเปลี่ยนมุมมองทางความคิดใหม่กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักศึกษาและคนรุ่นใหม่เพื่อนำไปปรับใช้กับการบริการจัดการตนเองและเวลา ซึ่งจะช่วยทำให้ชีวิตของทุกคนมีความสุขมากยิ่งขึ้น คือจุดประสงค์หลักของ 4 นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย นายโชติวัฒน์ จันทรเกษม (มอส) นางสาวพนิดา สังขพันธุ์ (พิม) นางสาวสุพัชชา เพียรพัฒนางกูร (แพม) และนางสาวปัทมวดี บุญสวัสดิ์ (โอปอ) ร่วมกันคิดขึ้นภายใต้ชื่อ 'ทีมกลางกลาง' โดยโครงการ"คิดให้ดี ทำให้พอ" นี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ หรือ RDPB CAMPรุ่นที่ 5 ครั้งที่ 1ภายใต้กรอบแนวคิด "น้ำคือชีวิต...สร้างได้ด้วยมือเรา" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้มีนักศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 20 ทีม นายโชติวัฒน์ จันทรเกษม หรือ มอส เล่าว่า แนวคิดโครงการนี้มาจากที่ได้ไปศึกษาดูงานเรื่องน้ำแล้วนำมาปรับใช้ จริงอยู่น้ำนั้นสำคัญและคนมักบอกว่าประเทศไทยมีน้ำมากพอแต่วันนี้ไม่ใช่ หากดูถึงปัญหาจริงๆแล้วการจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อยู่ที่จุดเริ่มต้น คือเรื่องของ "การสร้างคน" และเนื่องจากโครงการในพระราชดำรินั้นไม่ได้มีเพียงเรื่องน้ำ แต่ยังมีเรื่องของการทรงงาน และหลักปรัชญาที่สำคัญ โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทุกปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ได้ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิด แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นหลักคิดสำหรับเกษตรกร จริงๆแล้วเป็นหลักคิดที่ทุกๆคนใช้ได้ " จึงอยากลองนำเสนอโครงการที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อเปลี่ยนมุมมองให้กับนักศึกษาคนรุ่นใหม่ได้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่งว่าสามารถใช้กับชีวิตประจำวันทั่วไปได้ จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ"คิดให้ดี ทำให้พอ" เพื่อต้องการปลูกฝังคนตั้งแต่จุดเริ่มต้น ทำให้ทางคณะกรรมการฯ ประทับใจเพราะจากโครงการที่นำเสนอเข้าไปพิจารณาในรอบแรกทั้ง 20 ทีม ไม่มีโครงการใดที่เป็นการสร้างคน ส่วนใหญ่เป็นการสร้างที่ปลายทาง เช่น การสร้างฝาย เป็นต้น" สำหรับแนวคิดโครงการ "คิดให้ดี ทำให้พอ" แบ่งออกเป็น 3 เฟส โดยเฟสที่ 1 ค่ายเรียนรู้ เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน เพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดกิจกรรมแรลลี่อาชีพต่างๆ และพาไปดูงาน ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันแล้วเป็นอย่างไร เฟสที่ 2 ค่ายปฏิบัติ นอกจากการวางแผนการนำหลักคิดดังกล่าวไปใช้กับชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีการจัดประกวดบุคคลพอเพียง ซึ่งค่ายนี้จะเน้นให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่อยู่รอบตัว เพื่อเป็นการกระตุ้นและสะท้อนให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมมีความสามารถในการวิเคราะห์หลักการดังกล่าวได้หรือไม่ ส่วนเฟสที่ 3 เป็นการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนในมหาวิทยาลัย พร้อมยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัว เช่น การเล่นเฟสบุ๊คก็สามารถนำหลักการดังกล่าวมาเป็นหลักคิดได้ รวมทั้งบทสัมภาษณ์ของผู้ชนะการประกวดบุคคลพอเพียงเพื่อเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ว่าเริ่มมีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันแล้ว เป็นต้น รวมระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมทั้งสิ้น 1 เดือน นี่คือ..แนวคิดโครงการของทีมกลางกลางที่ได้นำเสนอ และชนะใจคณะกรรมการฯ สามารถคว้าโล่รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมทุนการศึกษาจากโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริมาครองได้สำเร็จ ไม่เพียงเท่านี้!น้องๆยังเตรียมจัดโครงการขึ้นจริงในเดือนมกราคม 2559 โดยในการดำเนินงานครั้งนี้ยังได้รับทุนเจียระไนเพชรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นทุนที่มหาวิทยาลัยมอบให้แก่นักศึกษาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่พัฒนาศักยภาพนักศึกษาซึ่งบูรณาการกับงานวิชาการหรืองานวิจัย เตรียมเปิดรับสมัครผู้สนใจโดยเฉพาะนักศึกษาใหม่ชั้นปีที่ 1 เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวแห่งความพอเพียง ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่จะถึงนี้ คาดว่า การจัดโครงการนี้จะสามารถสร้างแกนนำขึ้นได้อย่างน้อย 20 คน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตนักศึกษาโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดในการแก้ปัญหาได้ และเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นๆ ต่อไป ด้านนางสาวพนิดา สังขพันธุ์ หรือ พิม กล่าวว่า ในส่วนตัวแล้วจะพยายามนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับชีวิตประจำวันให้มากขึ้น เพราะมองว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงเป็นหลักคิดที่ดี ให้เราคิดก่อนทำ ใช้เหตุผล รู้จักการพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน เพราะการที่เราจะทำอะไรสักอย่าง ถ้าเรามีเหตุผล มีการประมาณตนเอง และมีการวางแผน จะทำให้ทุกๆเรื่องที่เราทำประสบความสำเร็จได้ เช่นเดียวกับนางสาว สุพัชชา เพียรพัฒนางกูร หรือ แพม บอกว่า จะนำหลักดังกล่าวมาใช้มากขึ้น เช่นตอนนี้ก็กำลังพยายามลดการใช้มือถือลงจากเดิมที่เป็นคนติดมือถือมากต้องดูตลอดเวลา และจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่าให้มากขึ้น ไม่ต่างจากมอสที่บอกว่า ส่วนตัวได้นำหลักคิดดังกล่าวมาใช้กับตนเองบ้างแล้ว และจะพยายามนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับทุกโครงการที่กำลังจะทำต่อๆไป โดยขณะนี้ได้เตรียมที่จะขยายโครงการต่อไปให้กับเครือข่ายรุ่นน้อง รวมถึงโครงการค่ายรูปแบบใหม่ที่คงแนวคิดการบูรณาการในการสร้างหลักคิดให้กับคน โดยใช้โครงการคิดให้ได้ ทำให้พอเป็นต้นแบบในการทำงานต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ