นักวิจัยพบวิธีนับหมีในป่า ชี้หมีหมาเขาใหญ่ไม่ถึงร้อย

ข่าวทั่วไป Sunday July 19, 2015 18:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ครั้งแรกที่นักวิจัยไทยสามารถคิดค้นวิธีการในการนับจำนวนประชากรหมีในป่าสำเร็จ ระบุที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยสำรวจจำนวนหมี ใช้เขาใหญ่เป็นพื้นที่นำร่อง พบหมีหมาไม่ถึง 100 ตัว และหมีควายประมาณ 300 ตัว ชี้เป็นข้อมูลสำคัญอันเป็นต้นทางแก้ไขปัญหาขบวนการค้าอวัยวะสัตว์ป่า ดร.ดุสิต งอประเสริฐ นักวิจัยดาวรุ่ง ประจำปี 2557 จากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เจ้าของผลงานการศึกษาประชากรและความหลากหลายของยีนในหมีควาย และหมีหมา ณ ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ เปิดเผยถึงความสำคัญของงานศึกษาวิจัยครั้งนี้ว่าเป็นงานวิจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับประชากรหมีในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีวีธีการประเมินประชากรสัตว์ประเภทนี้มาก่อน ส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของหมีในป่าว่ามีอยู่จริงจำนวนเท่าไหร่ ท่ามกลางสถานการณ์การค้าสัตว์ป่าทำให้หมีตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อขบวนการค้าสัตว์ป่า จากปัญหาดังกล่าว ดร.ดุสิตพร้อมทั้งทีมงานจึงทำการศึกษาประชากรหมีในป่าขึ้น และด้วยความชำนาญที่คลุกคลีกับงานวิจัยหมีมากว่าห้าปีทำให้ ดร.ดุสิต ค้นพบวิธีการจำแนกประชากรหมีจากลายที่หน้าอกของทั้งหมีหมาและหมีควายในป่า ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าหมีควายในพื้นที่เขาใหญ่มีอยู่ประมาณ 300 ตัว หมีหมาประมาณต่ำกว่า 100 กว่าตัว "หมีเป็นตัวช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ในป่า เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ของอาหารที่หมีกินเป็นผลไม้ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ดังนั้นหน้าที่ในระบบนิเวศของหมีก็สำคัญไม่แพ้สัตว์ที่ช่วยกระจายเมล็ดพืชอื่นๆ แม้เราจะจำแนกหมีควายและหมีหมาได้ไม่ยาก แต่การนับจำนวนประชากรหมีแต่ละชนิดก็ไม่ง่าย โดยการจำแนกจะต้องเก็บภาพลวดลายหน้าอกหมีซึ่งพบว่าหมีแต่ละตัวจะมีลายสีขาวที่หน้าอกแตกต่างกันออกไปเล็กน้อยต้องอาศัยการถ่ายภาพและระบุรูปแบบเฉพาะตัวให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยมีข้อมูลเรื่องนี้มาก่อน ขณะที่ขบวนการค้าอวัยวะสัตว์ป่ายังคงดำเนินอยู่ ตรงนี้จึงเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้เราต้องเร่งทำการศึกษาประชากรหมี เพราะวันหนึ่งอาจจะเหมือนเสือโคร่งก็ได้ที่ในวันที่เราลุกขึ้นมาศึกษาจริงจังก็พบว่ามันใกล้สูญพันธุ์ไปมากแล้ว" ดร.ดุสิต เปิดเผยในตอนท้ายว่า เร็วๆ นี้กำลังจะเปิดพื้นที่การศึกษาประชากรหมีหมาและหมีควายแห่งใหม่ที่บริเวณผืนป่าคลองแสง-เขาสก เนื่องจากมีรายงานว่า การกระจายตัวของหมีควายมีจุดใต้สุดอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชของประเทศไทย (เขตการกระจายตัวของหมีควายโดยธรรมชาติของหมีควายเริ่มต้นที่เทือกเขาหิมาลัย) และคาดว่าหากลงไปใต้กว่านี้จะไม่พบเจอหมีควายอีกแล้ว "ที่คลองแสงเรียกว่าเป็นป่าใหญ่ของหมีหมา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 6,000 กว่าตารางกิโลเมตร เป็นผืนป่าใหญ่สุดท้ายของภาคใต้ หากเราศึกษาประชากรหมีทั้งสองชนิดคือทั้งหมีหมา และหมีควาย เราน่าจะรู้ว่าหากที่นี่มีหมีหมามากกว่าพฤติกรรมของหมีควายจะเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับหมีที่เขาใหญ่ที่มีประชากรหมีควายมากกว่า"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ