ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของปตท.สผ. และบริษัทย่อย ณ 30 มิถุนายน 2540

ข่าวทั่วไป Wednesday July 30, 1997 16:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--30 ก.ค.--ปตท.
นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยปริมาณสำรองปิโตรเลียมของปตท.สผ. และบริษัทย่อย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2540 ดังนี้
ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2540 (1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2540) ปตท.สผ. ได้ดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติ คอนเตนเสท และน้ำมันดิบได้รวมทั้งสิ้น 7.3 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือ ประมาณ 40,000 บาร์เรลต่อวัน และจากผลสำรวจพัฒนาในแหล่งปิโตรเลียมในโครงการต่าง ๆ สามารถสรุปปริมาณสำรองปิโตรเลียม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2540 ได้ดังนี้
1. ปริมาณสำรองพิสูจน์แล้วที่เหลืออยู่ (Remaining Proved Reserves) รวมทุกโครงการเท่ากับ 553.2 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น 51.2 ล้านบาร์เรล หรือร้อยละ 10.2 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสำรอง ณ 31 ธันวาคม 2539 (502 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ) สำหรับปริมาณสำรองที่เหลืออยู่สามารถแยกได้เป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติ 3.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมันดิบและคอนเตนเสท 50.5 ล้านบาร์เรล
สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากได้มีการเพิ่มปริมาณสำรองของโครงการเยตากุนในอ่าวเมาะตะมะ ตามที่ได้มีการลงนามสัญญาเข้ารับสิทธิร่วมทุนในวันที่ 13 มีนาคม 2540 นี้ เข้าไว้ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการเจาะหลุมประเมินผลในพื้นที่พัฒนา ทางตอนใต้ของโครงการบงกช ทำให้ปริมาณสำรองพิสูจน์แล้วที่สามารถผลิตได้ (Ultimate Recovery) เพิ่มขึ้นจากเดิม 2.8 ล้านล้านลูกบาศน์ฟุต เป็น 3.0 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
2. ปริมาณสำรองที่คาดว่าจะมีเพิ่ม (Probable and Possible Reserves) รวมทุกโครงการคิดเป็น 663.2 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น 135.5 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบหรือ 25.7% จาก ณ 31 ธันวาคม 2539 ทั้งนี้แยกได้เป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติ 3.8 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมันดิบและคอนเดนเสท 70.4 ล้านบาร์เรล โดยเป็นผลจากการรวมปริมาณสำรอง ที่คาดว่าจะมีเพิ่มของโครงการเยดากุน และผลสำเร็จจากการสำรวจในโครงการบี 12/27 ในบริเวณตอนเหนือของแหล่งไพลิน
หมายเหตุ 1.ปริมาณสำรองพิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) คือ ปริมาณปิโตรเลียมที่สามารถผลิตได้จากแหล่งกักเก็บที่ค้นพบแล้ว โดยประเมินได้อย่างมั่นใจพอสมควรจากข้อมูลทางธรณีวิทยาและวิศวกรรม ทั้งนี้การผลิตจะคงอยู่ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ตลอดจนวิธีปฏิบัติการและกฏระเบียบของรัฐบาลในขณะนั้น
2. ปริมาณสำรองที่คาดว่าจะมีเพิ่ม (Probable and Possible Reserves) คือ ปริมาณปิโตรเลียมซึ่งคาดว่าจะมีเพิ่ม โดยพิจารณาจากข้อมูลธรณีวิทยาและวิศวกรรมซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แบ่งได้เป็น
* ปริมาณสำรองที่อาจจะมีเพิ่ม (Probable Reserves) ประเมินได้จากข้อมูลที่ยังไม่เพียงพอ ต้องอาศัยข้อมูลจากบริเวณข้างเคียงและสมมติฐานต่าง ๆ มีระดับความมั่นใจปานกลาง
* ปริมาณสำรองที่คาดว่าจะมี (Possible Reserves) ประเมินได้จากปริมาณข้อมูลที่น้อยมาก โดยอาศัยสมมติฐานเป็นส่วนใหญ่ มีระดับความมั่นใจต่ำ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ