ทีม MODFIRE@FIET ครุศาสตร์ฯ มจธ.คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2558

ข่าวทั่วไป Monday August 3, 2015 12:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อเอ่ยถึงการแข่งขันหุ่นยนต์ซึ่งมีจัดขึ้นหลายเวที เช่นเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Robot Contest ( เอบียูโรบอตคอนเทสต์) เป็นเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ของนักเรียนนักศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา มีการจัดขึ้นประจำทุกปี โดยประเทศที่เป็นสมาชิกเอบียูจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ จัดติดต่อกันมา 13 ปีตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2558 นี้ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ และได้กำหนดรูปแบบกติกาการแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ภายใต้แนวคิด “หุ่นยนต์แบดมินตัน” หรือ Robot Minton ขึ้น ซึ่งทีมผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องออกแบบพัฒนาหุ่นยนต์ออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ หุ่นยนต์เสริฟ และหุ่นยนต์รับ โดยใช้กฎกติกาเดียวกับการแข่งขันกีฬาแบดมินตัน แต่กว่าจะไปสู่เวทีใหญ่แต่ละประเทศสมาชิกจะมีจัดแข่งขันภายในประเทศขึ้นเพื่อค้นหาทีมที่ชนะเลิศอันดับ 1 ทั้งจากระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา เพื่อไปเป็นตัวแทนของแต่ละประเทศเข้าแข่งขันกันที่ประเทศอินโดนีเซียในเดือนสิงหาคม โอกาสนี้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แบดมินตันเพื่อเข้าร่วมแข่งขันในระดับอุดมศึกษา ภายใต้ชื่อทีม MODFIRE@FIET โดยมีผลงานเข้าถึงรอบ 16 ทีมและสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2558 จัดโดยสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเวทีสำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย 2558 เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขัน ณ ประเทศอินโดนีเซีย สำหรับหุ่นยนต์แบดมินตันนี้ เป็นผลงานของ 6 นักศึกษาจากภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ประกอบด้วย นายจักรกริช แก้ววิจิตร (กริช) , นายจุลดิษ คำเสนา (บาส) , นายอดิวัชร์ อัครวนิชนันท์ (ฟิว), นายสุทธิพร นิลวิเวก (เจมส์) ,นายดิษฐพล อำพินธ์ ( ต้าร์) และ นายศักรินทร์ จันทร์งาม (บาส) ภายใต้ชื่อทีม MODFIRE@FIET โดยมี นางสาวกัญญุมา จิตจำนอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา นายจักรกริช แก้ววิจิตร หรือ กริช ในฐานะหัวหน้าทีม กล่าวว่า หุ่นยนต์แบดมินตันที่ทีมฯพัฒนาขึ้นนี้มีแรงบันดาลใจจากการที่ตนเองเคยเข้าร่วมแข่งขันเวทีดังกล่าวมาก่อนในระดับอาชีวศึกษา เมื่อเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฯ จึงอยากจะต่อยอดความรู้และหาประสบการณ์ใหม่ๆ จึงเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันอีกในระดับอุดมศึกษา และอยากให้เพื่อนๆ น้องๆ ได้รับประสบการณ์เหมือนที่ตนเองได้รับ ซึ่งเวทีนี้มีประโยชน์มาก เพราะทำให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับหุ่นยนต์ได้อัพเดทข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา รวมถึงการได้รู้จักพัฒนาตัวเองทั้งเรื่องของการเขียนโปรแกรม การออกแบบระบบกลไกต่างๆของหุ่นยนต์มากขึ้น แม้ว่าสมาชิกในทีมฯส่วนใหญ่จะศึกษาอยู่ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้าแต่เราก็สามารถเรียนรู้วิชาอื่นๆ นอกเหนือจากสาขาที่เราเรียนอยู่ได้ จนสามารถพัฒนาหุ่นยนต์แบดมินตันและสามารถเข้ารอบ16 ทีมได้ หลังผ่านการแข่งขันกับทีมทั่วประเทศกว่า 48 ทีม และได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2558 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้านนายอดิวัชร์ อัครวนิชนันท์ หรือ ฟิว ทำหน้าที่บังคับหุ่นยนต์หนึ่งในสมาชิกทีมฯ กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจมากเพราะเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งแรกในชีวิต แม้ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่3 ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า แต่สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมแข่งขันทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบสมองกลของหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม และทำให้มีความรู้มากขึ้นนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ที่สำคัญทำให้ได้รู้จักมิตรภาพจากเพื่อนๆ และพี่ๆ เช่นเดียวกับ นายสุทธิพร นิลวิเวก หรือ เจมส์ กล่าวว่า ปกติเป็นคนที่ชอบเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ แต่การที่ได้เข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือต่างๆ การต่อวงจร และความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่ได้สอนในห้องเรียน ที่สำคัญได้ลงมือปฏิบัติทำให้เกิดทักษะมากขึ้น แม้ก่อนหน้านี้เคยแข่งขันเครื่องบินบังคับมาก่อนแต่ครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักการทำงานเป็นทีมทำให้เกิดความผูกพันระหว่างเพื่อนและรุ่นพี่ นายศักรินทร์ จันทร์งาม หรือ บาส หนึ่งในสมาชิกทีมฯ กล่าวว่า การที่ได้ลงมือทำห่นยนต์ครั้งนี้ รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่คิดกลไกลเกี่ยวกับหุ่นยนต์ เป็นประสบการณ์ที่ดีในการเรียนรู้การคิดที่ยากขึ้น ทำให้มีการพัฒนาตนเองในด้านที่ตนเองถนัด จากหุ่นยนต์เป็นเหมือนการทำงานจริงจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มา และเป็นการเสริมสร้างความรู้ให้มากยิ่งขึ้น เพราะเรารู้ถึงปัญหาของระบบการทำงาน การทดลองใช้จริง และเป็นการสร้างความคุ้นเคยต่อการทำงานจริง นายดิษฐพล อำพินธ์ หรือ ต้าร์ กล่าวว่า สำหรับผมคือครั้งแรกที่มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทนี้ ผมดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม ผมได้เรียนรู้เรื่องโครงสร้าง การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิส์ เป็นการนำความรู้ที่เรียนมาใช้งานจริงๆ และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นระหว่างการทำงานเราก็เรียนรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร และช่วยกันคิดหาทางแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง มันเป็นประสบการณ์ นายจุลดิษ คำเสนา หรือ บาส กล่าวว่า การเรียนรู้ในห้องเรียนยังคงเป็นแหล่งความรู้หลักที่สำคัญในตอนนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยตั้งคำถามที่ว่า ”เราเรียนวิชานั้นวิชานี้ไปทำไม?” และสำหรับบางคนยังคงหาคำตอบกันต่อไป แต่ไม่ใช่สำหรับทีมของพวกเราแน่นอน เพราะมันคือการนำความรู้ที่ได้มาใช้จริงสำหรับสร้างหุ่นยนต์ในครั้งนี้ ที่มีความรู้มากๆ นางสาวกัญญุมา จิตจำนอง อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ นอกจากได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า จากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ยังได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฯ ที่ให้ทุนเจียระไนเพชรจำนวนกว่า 70,000 บาท และผู้สนับสนุนจากบุคคลภายนอกจำนวนกว่า 50,000บาท เพื่อใช้เป็นทุนในการพัฒนาหุ่นยนต์เข้าแข่งขัน จากเงื่อนไขกติกาการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Robot จะต้องใช้หุ่นยนต์ถึง 2 ตัว แต่ละตัวต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัมและขนาดความสูงไม่เกิน 150 เซนติเมตร จึงต้องใช้งบฯ ค่อนข้างสูง ส่วนรูปแบบและกลไกการควบคุมขึ้นอยู่กับการออกแบบของทีม โดยทีมเรามีการแบ่งงานกันทำเป็นส่วนๆ คือ ส่วนของการออกแบบ ส่วนของโครงสร้าง ส่วนของกลไกการเสริฟและการตีลูก ส่วนของการควบคุม Controller การเขียนโปรแกรมและต่อวงจร โดยมี รศ.ดร.สุรชัย สุขสกุลชัย ค่อยช่วยให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการและเทคนิคต่างๆ ทางทีมใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ในการออกแบบพัฒนาเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ สำหรับรางวัลที่ได้รับนั้นยอมรับว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของนักศึกษา อาจารย์ รวมทั้งภาควิชาฯและคณะฯ เพราะสมาชิกในทีมสามารถนำพาทีมมาได้ไกลเข้าถึงรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ถือว่าเกินเป้าหมาย จากเมื่อ 2 ปีก่อนที่เราเคยเข้าร่วมแข่งขันในเวทีดังกล่าวเป็นปีแรก และได้เข้าสู่รอบ 32 ทีม และสำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันในปี นี้เป็นครั้งที่ 2 ทางทีมได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องนำพาทีมให้เข้าถึงรอบ 16 ทีมให้ได้ ซึ่งเราก็สามารถทำได้ดีขึ้นและเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากความมุ่งมั่นตั้งใจของนักศึกษาในทีมทำให้อาจารย์ที่ปรึกษามีแรงบันดานใจ ในการสร้างทีม และพร้อมผลักดันส่งนักศึกษาจากคณะครุศาสตร์ฯเข้าร่วมการแข่งขันในเวทีนี้ในปีต่อๆไป เพื่อให้ทักษะประสบการณ์แก่นักศึกษารุ่นน้องต่อไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ MODFIRE@FIET จะไม่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่น้องๆ นักศึกษากลุ่มนี้ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับมหาวิทยาลัยฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคณะครุศาสตร์ฯ รวมถึงตัวน้องๆ เอง เพราะการพัฒนาหุ่นยนต์ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งหรือเกิดจากการร่ำเรียนด้านวิศวะเท่านั้น แต่ผู้ที่จบหลักสูตรการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ฯ ยังถือว่าได้เปรียบเพราะความรู้ที่ได้รับนอกจากจะหล่อหลอมการเป็นผู้ให้ และผู้ที่ต้องการก้าวสู่อาชีพ “ครูช่าง”แล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพอื่นๆ ได้อีก อาทิ อาชีพวิศวกร เป็นต้น
แท็ก หุ่นยนต์   ส.ส.   BOT  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ