พม. จับมือ ก.การต่างประเทศ ก.แรงงาน และสตช. ให้การดูแลและเยียวยาแรงงานประมงไทย ที่ไปทำงานที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียหลังเดินทางกลับถึงไทยตามมาตรฐานสากลทุกรายอย่างต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday August 5, 2015 10:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๔ ส.ค.๕๘) เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ประสบปัญหาที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. ๒๕๕๗ จนถึงปัจจุบัน ปรากฎว่ายังคงมีแรงงานเดินทางกลับจากสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านการช่วยเหลือจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ทั้งนี้รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญที่มีนโยบายให้คัดแยกผู้เสียหายทุกรายและทุกกรณีตามมาตรฐานสากลโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยตั้งแต่วันที่ ๑ ต.ค. ๒๕๕๗– ๓ ส.ค.๒๕๕๘ รวมจำนวน ๙๔๐ ราย จากผลการคัดแยก พบว่าเข้าข่ายการค้ามนุษย์ จำนวน ๕๑ ราย ไม่เข้าข่าย จำนวน ๘๗๗ ราย และมีหมายจับคดีอาญา จำนวน ๑๒ ราย พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีการรับลูกเรือประมงฯ สองครั้งหลังคือเมื่อวันที่ ๒๙ ก.ค. ๒๕๕๘ เป็นครั้งที่ ๔๔ ของการรับลูกเรือฯ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ ว่าในวันดังกล่าวมีลูกเรือประมงจากเกาะเบนจิน่า และเมืองปอนเดียนัก รวมจำนวน ๖๙ คน จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเที่ยวบิน QZ ๒๕๒ ถึงประเทศไทยเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือทันที โดยมีทีมสหวิชาชีพ (จากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ร่วมกันรับลูกเรือประมงไทยที่กลับจากประเทศอินโดนีเซีย จำนวน ๖๙ ราย ก่อนนำตัวไปคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทุกราย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อหาผู้กระทำความผิด ซึ่งหลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความร่วมมือของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่จะให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ผลจากการคัดแยกผู้เสียหาย พบว่าลูกเรือจากเกาะเบนจิน่า จำนวน ๓๐ คน เป็นกลุ่มที่มีนายจ้างและนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการออกค่าใช้จ่ายในการส่งกลับ ผลการคัดแยกจำนวน ๓๐ คนนี้ไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ส่วนลูกเรือประมงจากเกาะปอนเดียนัก จำนวน๓๙ ราย (มีจำนวน ๑ คน ที่มีหมายจับคดีอาญา) เป็นกลุ่มที่ถูกกุมขังที่ ตม. อินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นเรือประมงที่ผิดกฎหมาย และต่อมาเรือถูกระเบิดทิ้ง ซึ่งผลการคัดแยกจำนวน ๓๘ คน พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน ๑๖ คน ที่เหลืออาจจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ พลตำรวจเอก อดุลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอีกกรณีการรับลูกเรือประมงฯ ครั้งล่าสุด คือ เมื่อวันที่ ๓ ส.ค. ๒๕๕๘ เป็นครั้งที่ ๔๕ ของการรับลูกเรือฯ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ ว่าในวันดังกล่าวมีลูกเรือประมงจำนวน ๓๕ คน จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเที่ยวบิน QZ ๒๕๒ ถึงประเทศไทยเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือทันที โดยมีทีมสหวิชาชีพร่วมกันรับลูกเรือประมงไทยที่กลับจากประเทศอินโดนีเซีย ก่อนนำตัวไปคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทุกราย๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ผลจากการคัดแยก พบว่าไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ทั้งหมด "ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น เช่น ค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา ค่าอาหารระหว่างเดินทาง และประสานด้านการดำเนินคดี พร้อมทั้งประสานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ดำเนินการเรื่องการเรียกร้องค่าจ้างค่าแรงที่พึงได้รับอย่างเหมาะสม ในกรณีที่คัดแยกฯแล้วลูกเรือที่อาจจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์นั้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ลูกเรือทราบถึงสิทธิในการเข้ารับการคุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา ๒๙ ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ให้ผู้เสียหายอยู่ในความคุ้มครองเป็นการชั่วคราวตามมาตรานี้ ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในสถานที่อันสมควรซึ่งมิใช่ห้องขังหรือสถานคุมขัง ซึ่งอาจเป็นสถานที่คุ้มครองของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หรือเป็นสถานที่คุ้มครองของเอกชน และเป็นไปตามความสมัครใจของผู้เสียหาย ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้ดำเนินการตามมาตราดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการส่งลูกเรือทุกรายกลับภูมิลำเนา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้ประสานสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แต่ละจังหวัดลงพื้นที่เพื่อติดตามเยี่ยมบ้าน และให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆอย่างต่อเนื่อง เช่น การช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัว การประสานเพื่อฝึกอาชีพ ประสานกระทรวงแรงงานในการจัดหางาน สำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จะมีการขอเงินจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์กล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ