พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2015 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง 1. กรณีการให้สังหาริมทรัพย์ (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษี : (ก) บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส (ข) บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส (2) ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี : สังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่สามารถคำนวณเป็นเงิน (3) เงินได้ที่ได้รับยกเว้น : เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่ง มิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น เงินได้ที่ได้รับซึ่งผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง (4) อัตราภาษี : อัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท (5) การยื่นแบบแสดงรายการภาษี : ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ภายในกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท หรือจะนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น (6) การหักภาษี ณ ที่จ่าย : ไม่มี 2. กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์ (1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษี : บิดามารดาที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม (2) ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี : อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท (3) เงินได้ที่ได้รับยกเว้น : เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษี (4) อัตราภาษี : อัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท (5) การยื่นแบบแสดงรายการภาษี : ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ภายในกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถเลือกเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท หรือจะนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น (6) การหักภาษี ณ ที่จ่าย : ให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ในคราวเดียวกัน ที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาท โดยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท 3. วันบังคับใช้ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 ใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ