กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดประชุมผู้ปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปราม พร้อมเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการยางพารา แผน AO และฟื้นฟูพื้นที่เขาหัวโล้นตามนโยบาย ทส.

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2015 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๔ อาคารสหกรณ์กรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปราม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๑ สิงหาคม นี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปราม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานที่ต้องดำเนินการตามแผน ระดมความคิดเห็น วิเคราะห์สถานการณ์และสภาพปัญหาเพื่อให้การดำเนินการป้องกันและปราบปรามประสบความสำเร็จตามแผนที่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชำนาญมากยิ่งขึ้น สำหรับแผนปฏิบัติการพื้นที่เป้าหมายป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกป่า (AO) จากข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯจึงได้กำหนดพื้นที่ตามข้อสั่งการ โดยระบุพื้นที่ปฏิบัติการ แต่ละแปลงตามสภาพของปัญหา โดยมีเป้าหมาย ๖๘,๓๔๔,๒๔๗ ไร่ สำหรับแผนปฏิบัติการเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพารา ตามนโยบายของรัฐบาล กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีเป้าหมายดำเนินการ ๒๐๐,๐๐๐ ไร่ เน้นพื้นที่นอกแปลงพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๑ และต้องไม่มีพื้นที่ทับซ้อนกับเอกสารสิทธิ์อื่นๆ โดยให้ดำเนินการในแปลงที่เป็นของนายทุน หรือผู้มีอิทธิพลเป็นอันดับแรก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับราษฎรผู้ยากไร้ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๖๖/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๗ มิ.ย. ๒๕๕๗ โดยก่อนดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับผู้ใหญ่บ้าน และผู้ครอบครองที่ดินปลูกยางพาราให้ทราบถึงนโยบายของรัฐบาลจนแน่ใจว่าไม่มีการต่อต้าน และแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วมเป็นสักขีพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง สำหรับการจัดการป่าเสื่อมสภาพในพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันในพื้นที่ ๑๓ จังหวัดภาคเหนือ ไม่น้อยกว่า ๘.๖ ล้านไร่ พร้อมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชาวไทยบนพื้นที่สูงควบคู่ไปด้วย โดยสร้างจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ