วิกฤติขยะอิเล็กทรอนิกส์ หนึ่งในปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของโลก ดีแทค - เทสโก้ โลตัส ผนึกกำลังร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมในโครงการ Mobile Battery for Life

ข่าวทั่วไป Friday August 14, 2015 09:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--ดีแทค ดีแทค และเทสโก้ โลตัส จับมือร่วมรณรงค์การจัดเก็บแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสื่อมสภาพ มุ่งขจัดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นับจากปี พ.ศ. 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ต่อปี ตั้งเป้ารักษายอดที่สามารถจัดเก็บได้ถึง 984,082 ชิ้น ในครี่งแรกของปี 2558 ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมได้ถึง12,385 ตัน การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดโรดแมพเพื่อการลดผลกระทบจากปัญหาได้อย่างยั่งยืน พร้อมมุ่งส่งเสริมภาคเอกชนที่ดำเนินงานระบบเก็บรวบรวม ขนส่ง และกำจัดของเสียอันตราย ถือได้ว่า ดีแทคเป็นผู้นำร่องเรื่องการรณรงค์ให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคัดแยกขยะ ไม่ทิ้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสื่อมสภาพซึ่งถือเป็นของเสียอันตรายปนกับขยะทั่วไป เพื่อช่วยลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมลพิษต่อระบบนิเวศและมนุษย์ นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า "ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 93.4 ล้านเลขหมาย (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) โดยทั่วไป โทรศัพท์มือถือมีวงจรชีวิตสั้นกว่า 2 ปี แบตเตอรี่มีวัฏจักรชีวิตของการชาร์จที่ 200 รอบ หรือ 1 ปี 4 เดือน นอกจากนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสนองตอบความต้องการและรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้ออุปกรณ์รุ่นล่าสุดที่มีฟังก์ชั่นหลากหลาย โดยอาจลืมนึกถึงการจัดการผลิตภัณฑ์เก่าที่ไม่ต้องการ และซากของผลิตภัณฑ์ที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุ" "ดีแทคได้ดำเนินโครงการ 'Mobile Battery for Life' มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี เพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยได้ตั้งจุดรับทิ้งแบตเตอรี่และอุปกรณ์เสื่อมสภาพที่สำนักงานบริการลูกค้า และองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ จำนวน 385 แห่ง เพื่อคัดแยกขยะ จัดเก็บ และส่งให้เทส-แอมไปกำจัด หรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและปลอดภัย จนถึงวันนี้ ปริมาณขยะที่ดีแทครวบรวมและนำส่งไปจัดการมีจำนวนมากกว่า 1.1 ล้านชิ้น พร้อมกันนั้น ยังได้จัดแคมเปญให้ความรู้แก่ลูกค้า ประชาชนทั่วไป ร่วมสร้างหัวใจที่ดูแลใส่ใจและตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" นางอรอุมากล่าวเพิ่มเติม ด้านนายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า "เทสโก้ โลตัส ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องการประหยัดพลังงาน การรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกโดยมอบแต้มพิเศษให้แก่ลูกค้า ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 27 ล้านใบ ในปี 2557 สำหรับความร่วมมือกับดีแทคครั้งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประโยชน์แก่สังคมและชุมชน โดยได้จัดตั้งกล่องรับแบตเตอรี่และอุปกรณ์เสื่อมสภาพที่เทสโก้ โลตัสรวม 27 สาขา ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการกับเราเป็นจำนวนมาก" นายถวัลย์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทีอีเอส.เอเอ็มเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด หรือเทส-แอม กล่าวว่า"กลุ่มบริษัทเทส-แอม ให้บริการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นบริษัทแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับ R2 Certificate จากสหรัฐอเมริกา รับรองว่าได้มาตรฐานในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังได้รับมาตรฐาน ISO 9001, ISO 14001 และ OSAS 18001 เมื่อดีแทครวบรวมโทรศัพท์และอุปกรณ์เสื่อมสภาพส่งให้ เทส-แอมจะนำไปสกัดโลหะมีค่า ถือเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต้องสกัดโลหะเหล่านั้นจากการขุดเหมืองแร่ และยังเป็นการลดรอยเท้าคาร์บอน เนื่องจากการนำโทรศัพท์มือถือกลับมารีไซเคิล 1 เครื่องนั้น จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนได้ 12.585 กิโลกรัมอีกด้วย" บรรยายภาพ นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ (กลาง) ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดีแทค ร่วมกับนายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย (ซ้าย) รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส รณรงค์โครงการ Mobile Battery for Life เพิ่มช่องทางให้ประชาชนมาทิ้งแบตเตอรี่มือถือและอุปกรณ์เสื่อมสภาพที่เทสโก้ โลตัส 27 สาขา โดยมีนายถวัลย์ แสงสว่าง (ขวา) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เทส-แอมมาร่วมในพิธีด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ