ข่าวการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การสมัครเข้าเป็นภาคีใน IOSCO Multilateral Memorandum of Understanding (MMoU)”

ข่าวทั่วไป Friday February 25, 2005 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ก.ล.ต. สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในฐานะประธานคณะทำงาน “IOSCO APRC MMoU Committee” ของกลุ่มประเทศสมาชิก IOSCO เอเชียแปซิฟิค ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติขึ้น ในหัวข้อ “การสมัครเข้าเป็นภาคีใน IOSCO Multilateral Memorandum of Understanding (MMoU)” เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548 ณ โรงแรม โฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากองค์กรสมาชิกเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จำนวน 28 คนจาก 17 ประเทศ วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิก IOSCO เอเชียแปซิฟิค ได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการเข้าร่วมเป็นภาคี (signatory) ในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาชิกในระดับพหุภาคี (IOSCO MMoU) โดยได้เชิญคณะกรรมการคัดเลือกและผู้แทนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเข้าเป็นภาคีแล้ว มาอธิบายถึงขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข เพื่อให้สามารถผ่านกระบวนการพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีใน IOSCO MMoU ได้ หมายเหตุ: 1. องค์กร IOSCO (International Organization of Securities Commissions) เป็นองค์กรระหว่างประเทศของหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศต่าง ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 171 องค์กร (http://www.iosco.org) 2. ปัจจุบัน IOSCO Asia-Pacific Regional Committee (APRC) ประกอบด้วยสมาชิกรวม 21 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ บรูไน จีน ไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี คีร์กีซสถาน มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย 3. มาตรฐานการกำกับดูแลตลาดทุนของ IOSCO ได้กำหนดแนวทางให้สมาชิกเข้าร่วมเป็นภาคีใน IOSCO MMoU และ IOSCO APRC ได้ย้ำให้สมาชิกเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานซึ่ง ก.ล.ต. ได้รับมอบหมายให้เป็นประธาน ทำหน้าที่ผลักดันสมาชิก APRC ให้เข้าสู่กระบวนการสมัครเข้าเป็นภาคีใน IOSCO MMoU 4. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติการเข้าร่วมเป็นภาคีใน IOSCO MMoU โดยในปี 2548 นี้ ก.ล.ต. จะดำเนินการสมัครและเตรียมเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อให้ ก.ล.ต. สามารถให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบข้อมูลแก่องค์กรต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในทำนองเดียวกัน อันจะทำให้สามารถคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยได้ดียิ่งขึ้น สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

แท็ก เอเชีย   ก.ล.ต.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ