เวทีสนองงานในพระราชดำริ หญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 6 ณ เมืองดานัง เวียดนาม

ข่าวทั่วไป Friday August 28, 2015 11:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--สำนักงาน กปร. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรดินด้วย ทรงเล็งเห็นว่าดินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญเช่นเดียวกับน้ำ จึงมีพระราชดำริริเริ่มให้มีการนำหญ้าแฝกซึ่งเป็นพืชที่มีคุณลักษณะพิเศษที่รากมีความยาวหยั่งลึกแผ่กระจายเป็นตาข่ายลงไปในดิน เสมือนเป็นกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต มาใช้แก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ครั้งแรกกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 และให้หน่วยงานต่างๆ ทำการศึกษา ทดลอง วิจัย และดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับลักษณะของภูมิประเทศ และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในการดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ได้มีการบริหารงานในรูปของคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีคณะอนุกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ รับผิดชอบด้านวิชาการ วางแผน และติดตามประเมินผล โดยใช้แผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นเครื่องชี้นำการดำเนินงานที่ผ่าน ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ เมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองดานัง ประเทศสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 6 โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการ กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทย และผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 180 คน จาก 30 กว่าประเทศ เฝ้าฯ รับเสด็จ ในการนี้ ได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด The King of Thailand Vetiver Awards 2015 จำนวน 15 ราย โดยมีคนไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 รางวัล และชาวต่างชาติ 3 รางวัล จากประเทศคองโก บังกลาเทศ จีน และรางวัลประกาศเกียรติคุณจำนวน 9 รางวัล ซึ่งมีคนไทยได้รับจำนวน 5 รางวัล และต่างประเทศ 4 รางวัล นางสุวรรณา พาศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กปร. ในฐานะหน่วยงานกลางในการดำเนินงานสนองพระราชดำริด้านการดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานและให้การสนับสนุนการจัดการสัมมนาหญ้าแฝกทั้งในระดับประเทศและนานาชาติเสมอมา จึงให้การสนับสนุนให้คณะนักวิชาการไทยและผู้รับรางวัล The King of Thailand Vetiver Awards ได้นำเสนอผลงานและนิทรรศการผลการดำเนินงานหญ้าแฝกในประเทศไทยขึ้น อันจะเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้พัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง สำหรับรางวัลชนะเลิศด้านงานวิจัยหญ้าแฝกดีเด่น ประเภทผลงานวิจัยในภาคเกษตรกรรมนั้น เป็นของ มาลี ณ นคร มัทรภรณ์ ใหม่คามิ และลิลลี่ กาวีต๊ะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเภทผลงานวิจัยนอกภาคเกษตรกรรม เป็นของนายธนพล เพ็ญรัตน์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร รางวัลด้านการส่งเสริมและการใช้งานระบบหญ้าแฝกดีเด่น ประเภทการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้แก่ Alain Ndona จาก Vetiver Network International ประเทศคองโก ประเภทการใช้งานระบบหญ้าแฝก เป็นของ Mohammad Shariful Islam จากประเทศบังกลาเทศ รางวัลด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนดีเด่นประเภทผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจสังคม เป็นของ Liyu Xu and Biao Huang จากประเทศจีน ประเภทการบรรเทาภัยพิบัติหรือการปกป้องสภาพแวดล้อม เป็นของ ส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ จากหน่วยงานมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ประเทศไทย และรางวัลประกาศเกียรติคุณอีกจำนวน 9 รางวัล ทั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์อุปถัมภ์ของเครือข่ายหญ้าแฝกโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินสนับสนุนการจัดการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ และพระราชทานเงินรางวัลจากมูลนิธิชัยพัฒนา ในการนี้ได้มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมความตอนหนึ่งว่า การประชุมฯ ครั้งนี้เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ และเปิดโอกาส ในการเพิ่มศักยภาพ ในการใช้งานระบบหญ้าแฝก เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากประเทศต่างๆ ของโลก และการนำเสนอผลงานจากผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จะเป็นแสงนำทาง สำหรับเราทุกคน ที่จะจัดการกับความยากลำบากที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขจัดปัญหาทรัพยากรที่เสื่อมโทรม เพื่อส่งเสริมความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธรรมชาติ เพื่อสิ่งที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ