GCAP ปรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลังผนึกพันธมิตรใหม่ 2 ราย มั่นใจ H2/58 ดีขึ้นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว-เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 18, 2015 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--IR PLUS GCAP ปรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง เน้นปล่อยเงินกู้ยืมมีหลักประกัน และสินเชื่อเสริมสภาพคล่องโดยเน้นกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้วและ มีประวัติการผ่อนชำระเงินดี พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์ เพิ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยง ล่าสุดเซ็น MOU กับพันธมิตร 2 ราย เพื่อนำสินค้าใหม่มาปล่อยทดแทนสินเชื่อเดิม คาดพอร์ตสินเชื่อปีนี้อยู่ที่ 900 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน นายสันติ หอกิตติกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เปิดเผยถึง ทิศทางผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง ว่า สินเชื่อเครื่องจักรกลการเกษตร ขยายตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก แต่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งบริษัทฯได้ปรับแผนการขยายสินเชื่อด้านการเงิน เป็นสินเชื่อเงินกู้ยืมมีหลักประกัน และสินเชื่อเสริมสภาพคล่องโดยเน้นกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้วและ มีประวัติการผ่อนชำระเงินดี ซึ่งช่วยให้ลูกค้ามีสภาพคล่องสามารถประกอบอาชีพได้ต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มบริการทางการเงินของบริษัทฯ อีกด้วย นอกจากนี้บริษัทฯ พยายามที่จะรักษายอดสินเชื่อรวมให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาโดยการหาพันธมิตร ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ ๆ มาเสริมเพิ่มขึ้น โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการทำธุรกิจร่วมกับบริษัท ยิปต้า จักรกลการเกษตร เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตเครื่องรีดยางเครป และเครื่องสับยางพารายี่ห้อ "ยิปต้า" โดยบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว เป็นเวลา 3 ปี และบริษัท คุนซัน แมชชีนเนอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายเครื่องอบลดความชื้นเมล็ดพืช ยี่ห้อ "ซันกิ่ว"โดยบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อแต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลา 5 ปี "ในครึ่งปีแรกต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบพอสมควร เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาวะภัยแล้ง ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวลดลง และมีความไม่แน่นอน ทำให้ลูกค้ารถเกี่ยวนวดข้าว ชะลอการออกรถเกี่ยวนวดข้าว ออกไป ส่งผลให้ พอร์ตสินเชื่อหดตัวตามไปด้วย บริษัทฯ ได้มีการทบทวนและปรับแผนการดำเนินงาน โดยเร่งดำเนินการ การออกโปรดักส์ใหม่ ๆ และหาลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่ม เพื่อให้เกิดสินเชื่อใหม่ ทดแทนสินเชื่อเดิมที่ลดลงในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา" นายสันติ กล่าว ทั้งนี้ ยอมรับว่าภัยธรรมชาติมีผลต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ ดังนั้นบริษัทฯ จึงต้องการกระจายความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อ ให้มีความสมดุลกัน โดยในอนาคตบริษัทฯ ตั้งเป้า ปล่อยสินเชื่อหลัก ๆ เป็น 3 กลุ่ม ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ เครื่องจักรกลทางการเกษตรนาข้าว เครื่องจักรกลทางการเกษตรพืชไร่ และบริการทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯเติบโตอย่างมั่นคง นอกจากนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเมื่อบริษัทฯได้รับอนุญาตจะเป็นการขยายช่องทางในการทำธุรกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในปีนี้การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ น่าจะยังมีไม่มาก แต่น่าจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นในปีหน้า ส่วนสัดส่วนรายได้ของบริษัท แบ่งเป็นธุรกิจให้เช่าซื้อรถเกี่ยวข้าวประมาณ 82% และสินเชื่ออื่นๆอีก 18% เช่น สินเชื่ออเนกประสงค์ เงินกู้ยืมมีหลักประกัน สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น สำหรับ แนวโน้มในครึ่งปีหลังนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูข้าวนาปีที่จะมีการเก็บเกี่ยวข้าว เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของลูกค้า ที่จะมีการชำระเงินเข้ามาเพิ่มขึ้น จะเป็นผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในภาพรวม ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 พอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 815 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้ น่าจะรักษายอดสินเชื่อไว้ให้ได้ประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับยอด ณ สิ้นปี 2557 ที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ