เทคโนโลยีตรวจหาร่องรอยดีเอ็นเอในแม่น้ำโขง กุญแจสำคัญไขความลับความอยู่รอดของปลาบึกแม่น้ำโขงที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

ข่าวทั่วไป Tuesday September 29, 2015 18:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--WWF-ประเทศไทย ผลการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีการตรวจหาร่องรอยทางดีเอ็นเอของสัตว์ที่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือ eDNA เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำจากตัวอย่างน้ำที่เก็บมาจากแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรก ทำให้พบการดำรงอยู่ของปลาบึกแม่น้ำโขงอันเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically endangered) ที่จำเป็นต่อการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจถึงแหล่งที่อยู่อาศัยและ การแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ดังกล่าวเพื่อทำการอนุรักษ์พันธุ์อย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีการลดลงของจำนวนประชากรถึงร้อยละ 90 ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผลการศึกษานี้ได้รับการเผยแพร่เป็นการล่วงหน้าก่อนจะถึงวันแม่น้ำโลก (World Rivers Day) ในวันที่27 กันยายน ซึ่งถูกกำหนดขึ้นให้เป็นการเฉลิมฉลองประจำปีเพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของแม่น้ำลำธารทั่วโลกที่คอยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนของชุมชนมาโดยตลอด โดยจากการเก็บตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำโขง 12 จุด บริเวณฝั่งประเทศไทย ลาว และกัมพูชา เพื่อทำการศึกษา พบร่องรอยของปลาบึกแม่น้ำโขงบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยเพียงจุดเดียว ซึ่งรู้จักในท้องถิ่นว่าเป็นพื้นที่สำหรับวางไข่ ในขณะที่พบร่องรอยของปลาชนิดอื่นถึง 176 ชนิดพันธุ์ และสามารถระบุชนิดพันธุ์ของสัตว์น้ำจืดอื่นๆ อย่างโลมาอิรวดี กบอีกหลายชนิดพันธุ์ รวมทั้งซาลาแมนเดอร์อีกด้วย เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดพันธุ์จะมีการทิ้งร่องรอยสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอไว้ในสิ่งแวดล้อม ทั้งจากเซลล์ผิวของเสียจากร่างกาย และสารอินทรีย์อื่นๆ และด้วยการตรวจหาร่องรอยทางดีเอ็นเอของเทคโนโลยี eDNA จากตัวอย่างน้ำ และนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในฐานข้อมูลทางพันธุกรรมทำให้นักวิทยาศาสตร์จากทาง WWF และ SPYGEN บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของฝรั่งเศสสามารถสร้างแผนภาพแสดงความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่ของการเก็บตัวอย่างได้ในที่สุด ? "หากเราไม่รู้ว่าปลาบึกแม่น้ำโขงอยู่ที่ไหน เราก็ไม่สามารถที่จะรักษามันไว้ได้ ดังนั้นการมีฐานข้อมูลที่ดีจึงถือเป็นการนำไปสู่การอนุรักษ์พันธุ์ที่ดี" ดร. โทมัส เกรย์ ผู้นำการสำรวจชนิดพันธุ์ของ WWF-ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กล่าว "การเก็บตัวอย่างของ eDNA คือเทคนิคการวิจัยขั้นบุกเบิกที่ช่วยให้เราสามารถรักษาพันธุ์สัตว์อย่างปลาบึกแม่น้ำโขงนี้ให้รอดชีวิตจากภัยคุกคามอย่างรุนแรงที่พวกมันกำลังเผชิญอยู่ได้"แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของโลกน้ำหนักถึง 300 กิโลกรัมที่พบได้เพียงบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนี้กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการสร้างเขื่อนและการทำประมงเกินขนาด นอกจากนั้นแล้ว การทำประมงด้วยกระแสไฟฟ้าและระเบิดไดนาไมท์ การทำลายพื้นที่วางไข่ มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรปลาบึกชนิดพันธุ์นี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อทำการอนุรักษ์พันธุ์ไว้มิให้สูญไป นักวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจายของพวกมันให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากจำนวนประชากรเหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยตัวเท่านั้น ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพแบบดั้งเดิม จากผลการศึกษาคาดว่า ปลาบึกแม่น้ำโขงจะอพยพไปยังตอนเหนือของแม่น้ำโขงในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน โดยสามารถพบได้ในบริเวณแอ่งแม่น้ำลึกเท่านั้น ซึ่งการค้นพบครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่าชนิดพันธุ์ดังกล่าวพบเจอได้ยากเพียงใด แต่ในขณะเดียวกัน ผลการสำรวจนี้ก็เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจและอนุรักษ์พันธุ์สัญลักษณ์แห่งแม่น้ำโขงนี้เอาไว้ ภัยคุกคามสำคัญของปลาบึกแม่น้ำโขงและโลมาอิรวดีนี้ก็คือเขื่อนพลังงานน้ำทั้ง 11 แห่ง บริเวณทางน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเขื่อนไซยะบุรีทางตอนเหนือของประเทศลาวที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และอีกแห่งที่สำคัญคือเขื่อนดอนสะโฮงทางตอนใต้ของประเทศลาวที่วางแผนจะทำลายพื้นดินเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ ซึ่งเขื่อนเหล่านี้มีโอกาสที่จะทำลายระบบการอพยพของสัตว์น้ำอย่างถาวร และทำให้การประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับประชากรกว่า 60 ล้านคน ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน เขื่อนเหล่านี้สามารถสร้างผลเสียอย่างร้ายแรงให้กับปลาบึกแม่น้ำโขง รวมถึงโลมาน้ำจืดและชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเขตก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงที่อยู่ห่างจากเขตแอ่งแม่น้ำลึกซึ่งเป็นพื้นที่พบความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดจากการเก็บตัวอย่างน้ำในบริเวณนี้เพียงไม่ถึง 2 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ที่มีโลมาอิรวดีที่เหลืออยู่ของประเทศลาวอาศัยอยู่ถึง 5 ตัว "เขื่อนดอนสะโฮงถือเป็นระเบิดเวลาทางระบบนิเวศที่เป็นภัยคุกคามต่อทั้งความมั่นคงทางอาหารของคนนับล้านและประชากรของโลมาอิรวดีที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที" นาย จิต สัมอาต ผู้อำนวยการแห่ง WWF-ประเทศกัมพูชา กล่าว "เขื่อนจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงทั้งหมดจนถึงบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในประเทศเวียดนาม เราจึงได้ขอให้ทางรัฐบาลลาวและบริษัท MegaFirst Corporation Berhad ของประเทศมาเลเซีย ผู้รับผิดชอบแผนการพัฒนานี้ ได้พิจารณาการตัดสินใจครั้งนี้ใหม่อีกครั้ง และขอให้รอจนกว่าการศึกษาเรื่องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำหนดทางเลือกทางกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ภายใต้กฎบัตรแม่น้ำโขงนั้นเสร็จสิ้นเสียก่อน" "ผลการศึกษานี้ช่วยให้เราเข้าใจและเรียนรู้พฤติกรรมและการอพยพของสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงในรูปแบบใหม่ และเสนอมุมมองใหม่ในการสำรวจศึกษาพันธุ์สัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้มากขึ้น" อีวา เบลล์เมน จาก SPYGEN กล่าว "ถึงแม้ว่า eDNA จะสามารถแสดงให้เห็นทุกชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ทำการศึกษาแม้กระทั่งชนิดพันธุ์ที่หายากและตรวจพบได้ยากที่สุดก็ตาม แต่เพราะร่องรอยทางดีเอ็นเอดังกล่าวจะถูกน้ำพัดหายไปภายในไม่กี่วัน ตัวอย่างน้ำที่เก็บมาได้จึงสามารถแสดงให้เห็นชนิดพันธุ์ของสัตว์น้ำที่ปรากฏตัวในบริเวณนั้นในระยะเวลาหนึ่ง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ