กรมประมงแจงนำเข้ากุ้งอิเหนา..ไม่แย่งตลาดกุ้งไทยแน่นอน และเร่งฟื้นฟูการผลิตกุ้งให้สำเร็จ..ในปี 59

ข่าวทั่วไป Wednesday September 30, 2015 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--กรมประมง จากกรณีที่กรมประมงอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปนำเข้ากุ้งขาวจากเกาะ Seram ประเทศอินโดนีเซีย มาเพื่อแปรรูป ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศหวั่นวิตกว่าหากมีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ ด้านการระบาดของโรค การแย่งชิงตลาด และที่สำคัญจะมีผลกระทบต่อผลผลิตกุ้งในประเทศที่จะออกมาสู่ตลาดในปีหน้า รวมทั้งเป็นเหตุให้ราคากุ้งตกต่ำนั้น นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังการหารือกับนายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์กุ้งแห่งประเทศไทย ว่ากรมประมงได้มีประกาศกรมประมงอนุญาตให้นำเข้ากุ้งขาวจากเกาะ Seramประเทศอินโดนีเซียมาเพื่อแปรรูปนั้นเป็นความจริง เนื่องจากผู้ประกอบการแจ้งว่าจะนำเข้ามาเพื่อแปรรูปป้อนสู่ตลาดที่ได้มีการ contact ไว้ เป็นกุ้งไซส์ใหญ่ ซึ่งผลผลิตกุ้งในประเทศไทยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการเพื่อรักษาตลาดการส่งออก อย่างไรก็ตาม การนำเข้ากุ้งขาวดังกล่าวนี้ กรมประมงได้กำหนดให้นำเข้ากุ้งขาวได้เฉพาะจากแหล่งเลี้ยงจากเกาะSeram หมู่เกาะ Maluku ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเกาะสุมาตรากว่าพันกิโลเมตร เป็นพื้นที่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิค และมีฟาร์มเลี้ยงกุ้งฟาร์มเดียวเท่านั้นบนเกาะดังกล่าวซึ่งกรมประมงได้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปประเทศอินโดนีเซีย เพื่อตรวจประเมินความเสี่ยงสถานการณ์โรค IMN ในฟาร์มและโรงเพาะอีกทั้งตรวจมาตรการเฝ้าระวังโรคกุ้ง การควบคุมและป้องกันโรคระบาดของโรคกุ้งจากทางรัฐบาลอินโดนีเซีย และส่งแบบสอบถามไปยังหน่วยงานภาครัฐของอินโดนีเซียเพื่อประเมินมาตรการตรวจสอบโรคไวรัสกุ้ง โดยเฉพาะโรค IMN รวมถึงมาตรการในการดำเนินการควบคุมโรค ซึ่งผลการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐของประเทศอินโดนีเซีย สรุปได้ว่าพื้นที่การเลี้ยงกุ้งขาวแห่งนี้ปลอดโรค IMN นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่จะนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซีย จะต้องจัดทำแผนการนำเข้าส่งให้กรมประมงทราบทุกครั้ง โดยอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะกุ้งขาวตัดหัวในสภาพแช่แข็งเท่านั้น และอนุญาตให้นำเข้าได้ถึงสิงหาคม 2559 โดยจะต้องมีหนังสือรับรองสุขอนามัยสุขภาพสัตว์น้ำที่ลงนามรับรองโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบ (Competent Authority) ของประเทศอินโดนีเซีย และจะต้องมีผลการตรวจหาเชื้อไวรัสจากห้อง Lab ที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 17025สำหรับตรวจเชื้อไวรัส 5 ชนิด ได้แก่ WSSV / YHV / TSV / IHHNV และ IMNV และโรคอื่นๆ ตามที่กรมประมงประกาศด้วย และเมื่อนำเข้ามาจะต้องผ่านกระบวนการกักกันในสถานที่พักซากสัตว์น้ำ ซึ่งจะมีการสุ่มตัวอย่างกุ้งทะเลเพื่อตรวจวิเคราะห์โรค เมื่อได้ผลว่าปลอดจากโรคไวรัสกุ้งที่กำหนดจะปล่อยกักกันและนำไปแปรรูปต่อได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับการนำเข้าสัตว์น้ำของไทยตามประกาศกรมประมง อธิบดีกรมประมง กล่าวต่อไปว่า จากการที่กรมประมงอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซียนั้น เพียงเพื่อสำหรับการแปรรูปเพื่อการส่งออกในการรักษาตลาดและลูกค้าต่างประเทศไว้ อีกทั้ง ยังเป็นกุ้งขนาดใหญ่ 20– 30 ตัว/กิโลกรัม ซึ่งมิใช่ขนาดที่เป็นผลผลิตหลักในประเทศของเรา ทั้งนี้จะนำเข้าจำนวน 1 พันตันเท่านั้นโดยขณะนี้ยังไม่มีการนำเข้ามาแต่อย่างใดจึงไม่เป็นการไปแย่งชิงตลาดกันอย่างแน่นอนและไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้กุ้งมีราคาตกต่ำลงในขณะนี้จึงขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทุกท่านมั่นใจว่าการนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซียจะไม่ใช่เหตุที่ทำให้ราคากุ้งลดต่ำลงและขอให้ร่วมกันฟื้นฟูการผลิตกุ้งของประเทศไทยต่อไปเพื่อให้สามารถบรรลุผลสำเร็จให้ได้ภายในปี 2559นอกจากนี้ทางนายบรรจง นิสภวาณิชย์ เน้นย้ำว่าปัจจุบันการผลิตกุ้งของประเทศไทยมีการฟื้นฟูดีขึ้น เนื่องจากปัญหาด้านการเลี้ยงลดลงและแนวโน้มผลผลิตเพิ่มขึ้น หากสามารถฟื้นฟูได้ต่อเนื่องตลอดในปี 2559 คาดว่าประเทศไทยจะมีผลผลิตและมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งเป็นฐานของความสำเร็จที่ทำให้ประเทศไทยของเราสามารถกลับมาเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกกุ้งได้อีกครั้ง…. อย่างไรก็ตามราคากุ้งลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกุ้งขนาด 100 ตัว/กิโลกรัม จากราคา 120 บาท/กิโลกรัม เหลือเพียง 100 บาท/กิโลกรัม ในปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากช่วงนี้ผลผลิตกุ้งออกมามาก ดังจะเห็นได้จากก่อนหน้านี้มีการซื้อขายกุ้งในปริมาณ 80-100 ตู้ แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณ 100 -144 ตู้ ทำให้มีผลผลิตกุ้งออกมาจำนวนมาก จนเป็นสาเหตุให้ราคากุ้งตกต่ำลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ