สนพ. เผยสถานการณ์การใช้พลังงาน 8 เดือนแรก ปี 2558 พบคนไทยใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 1.2 % นำเข้าพลังงานสูงขึ้น 8.6 % แต่การผลิตในประเทศลดลง 5.3%

ข่าวทั่วไป Wednesday September 30, 2015 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--Triple J Communication สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยสถานการณ์การใช้พลังงาน 8 เดือนแรก ปี 2558 พบคนไทยใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ในขณะที่การผลิตในประเทศลดลงร้อยละ 1.1 ส่งผลให้นำเข้าพลังงานสูงขึ้นร้อยละ 8.6 วันนี้ (24 กันยายน 2558) นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยสถานการณ์การใช้พลังงาน 8 เดือนแรก ปี 2558 ว่า จากการประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2558 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่เร่งรัดให้ดำเนินการตามแผน ในขณะที่ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำก็จะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อที่แท้จริงของประชาชน แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและอียู ทั้งนี้ สศช. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2558 มีแนวโน้มอยู่ในช่วง 40 - 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับสถานการณ์การใช้พลังงาน 8 เดือนแรก ปี 2558 พบว่า สัดส่วนการใช้พลังงานของประเทศไทยแบ่งเป็นน้ำมันร้อยละ 29 ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ถ่านหินร้อยละ 13 ซึ่งใช้พลังงานรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ซึ่งการผลิตในประเทศลดลง ร้อยละ 1.1 ส่งผลให้นำเข้าพลังงานสูงขึ้นร้อยละ 8.6 ทังนี้ การใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยมีการใช้เบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เนื่องจาก การลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับการใช้ดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และการใช้น้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงต้นปี 2558 ส่วนการใช้ LPG ลดลงร้อยละ 7.7 คิดเป็น 573 พันตัน/เดือน เนื่องจากความต้องการใช้ที่ลดลงของภาคขนส่ง ภาคครัวเรือนและการใช้ในอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับลดลง ทำให้ผู้ใช้ LPG บางส่วนหันไปใช้น้ำมันแทน ส่วนภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 4.8 โดยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มมีมาตรการเข้มงวดปราบปรามการลักลอบจำหน่าย LPG ผิดประเภท ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมคาดว่า จะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ด้านการใช้ NGV พบว่าเริ่มชะลอตัวและมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.3 นายทวารัฐ กล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์ไฟฟ้านั้น พบว่า ค่าเอฟที ในช่วงเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2558 อยู่ที่อัตรา 46.38 สตางค์ต่อหน่วย ปรับลดลง 12.58 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าเอฟทีในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2558 ตามแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และเพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้า ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าประมาณ 116,350 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนและมีฝนแล้งมากวี่ปีที่ผ่านมา โดยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขา ยกเว้นภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ