คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลนายเจริญโรจน์ ลั่นทมทอง หรือรัตนวิจัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ข่าวทั่วไป Friday October 2, 2015 17:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แถลงถึงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 702-74/2558 ในวันพุธที่ 30 กันยายน 2558 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายเจริญโรจน์ ลั่นทมทอง หรือรัตนวิจัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เรียกและรับเงินจากจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.๒๔๔/๒๕๔๓ ของศาลฎีกา และได้เขียนความเห็นช่วยเหลือจำเลยให้ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง แล้วเห็นว่า ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา (ผู้ช่วยใหญ่) มีอำนาจหน้าที่ ทางวิชาการในการตรวจสอบความถูกต้องของร่างคำพิพากษาและคำสั่งของศาลฎีกา ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนทำความเห็นช่วยเหลือจำเลยมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และปฏิบัติหน้าที่ราชการส่อไปในทางทุจริต ไปพบผู้พิพากษาที่รับโอนสำนวนก่อนยกร่างคำพิพากษาและติดตามร่างคำพิพากษาอย่างใกล้ชิดผิดปกติวิสัยของผู้ช่วยผู้พิพากษา (ผู้ช่วยใหญ่) ทำบันทึกทักท้วงผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเพื่อให้ศาลฎีกามีคำพิพากษารอการลงโทษ โดยอ้างอิง คำพิพากษาประกอบบันทึกทักท้วงซึ่งมิได้ มีข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกับคดีนี้ และแนบคำแถลงขอรอการลงโทษจำคุกพร้อมเอกสารและภาพถ่ายการประกอบคุณงามความดีของจำเลยไปท้ายร่างคำพิพากษาเพื่อช่วยเหลือจำเลย มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า การกระทำของนายเจริญโรจน์ ลั่นทมทอง หรือรัตนวิจัย ผู้ถูกกล่าวหา เป็นการกระทำความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาแก่นายเจริญโรจน์ ลั่นทมทอง หรือรัตนวิจัย ผู้ถูกกล่าวหา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 สำหรับการดำเนินการทางวินัยนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการทางวินัยและได้มีคำสั่ง ที่ ๖๗๖/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ ลงโทษไล่ผู้ถูกกล่าวหาออกจากราชการเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่า การดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม กรณีจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาอีกต่อไป
แท็ก ศาลฎีกา   ป.ป.ช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ