กฟน.ชี้แจงการเก็บค่าไฟฟ้า หลังเปลี่ยน VAT เป็น 10%

ข่าวทั่วไป Monday August 18, 1997 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--18 ส.ค.--การไฟฟ้านครหลวง
นายสมบุญ ขาวสำอาง ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิม 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2540 นั้น อาจทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดความไม่แน่ใจว่า หากมาชำระค่าไฟฟ้าหลังวันที่ 16 สิงหาคม 2540 จะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเท่าใด และจากการตรวจสอบพบว่า ยังมีใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า ที่ยังไม่ได้รับการชำระเงินประมาณหนึ่งล้านสี่แสนฉบับ
"ปัจจุบัน การไฟฟ้านครหลวงจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อนแล้วจึงจัดทำใบเสร็จรับเงินเพื่อเรียกเก็บเงินภายหลัง หากมีการใช้ไฟฟ้าก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเดิม คือ 7 เปอร์เซ็นต์"
นายสมบุญ กล่าวว่า การเปลี่ยนอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในครั้งนี้ ทำให้การคิดภาษีมูลค่าเพิ่มแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มีการใช้ไฟฟ้าก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 สังเกตได้จากในใบเสร็จรับเงิน ช่องที่เขียนว่า อ่านครั้งหลัง หากวันที่ที่ปรากฏ เป็นวันที่ก่อน 16/8/40 ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้ จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีการใช้ไฟฟ้าทั้งก่อนและหลังวันที่ 16 สิงหาคม 2540 กลุ่มนี้สังเกตในใบเสร็จรับเงิน ช่องอ่านครั้งก่อน จะเป็นก่อนวันที่ 16/8/40 แต่ช่องอ่านครั้งหลัง จะเป็นตั้งแต่วันที่ 16/8/40 เป็นต้นไป กลุ่มนี้ จะแบ่งการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ใช้ไฟฟ้าก่อนวันที่ 16/8/40 คิดในอัตรา 7 เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 16/8/40 เป็นต้นไป คิดในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์
"สำหรับวิธีการคิดค่าไฟฟ้า เพื่อนำไปคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ใช้หลักเกณฑ์ว่ามีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยแต่ละวันเท่ากัน สำหรับวิธีการคิดคำนวณนั้น ทำได้โดยนำค่าไฟฟ้ารายเดือนก่อนคิดภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยจำนวนวันที่ใช้ไฟฟ้า (วันที่อ่านครั้งก่อน ถึงวันที่อ่านครั้งหลัง) ผลออกมาคือค่าไฟฟ้าเฉลี่ยต่อวัน แล้วนำค่าที่ได้นี้ไปคูณกับจำนวนวันที่ใช้ไฟฟ้าก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 และจำนวนวันที่ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2540 ผลลัพท์ที่ได้มาทั้งสองค่า จะนำไปคิดภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7 และ 10 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ"
เฉพาะกลุ่มที่ 2 นี้ในใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า จะแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 7 เปอร์เซ็นต์และ 10 เปอร์เซ็นต์
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ พิจารณาได้จากใบเสร็จรับเงิน ในช่องอ่านครั้งก่อน จะเป็นวันที่ตั้งแต่ 16/8/40 เป็นต้นไป
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงกล่าวในตอนท้ายว่า การคิดภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นไม่ว่าจะชำระค่าไฟฟ้าที่บ้าน ที่ทำงาน, การไฟฟ้าเขต, สาขา หรือหักผ่านบัญชีธนาคาร ใช้วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเดียวกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ