สสจ.นครพนม เตือนอย่าคึก เล่นประทัดช่วงออกพรรษา ประมาทระวัง มือเละ-ตาบอด

ข่าวทั่วไป Monday October 19, 2015 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม สสจ.นครพนม เตือน ระวัง! ออกพรรษาเจ็บตายจากพลุ-ประทัด-ดอกไม้ เกิดบ่อยที่สุดในช่วงเทศกาลออกพรรษา นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ จำนวนมาก เช่น โดนประทัดระเบิดใส่มือจนนิ้วขาด และบางรายทำให้ตาบอดตามที่เป็นข่าวในปีที่ผ่านมา ข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากการจุดประทัดเล่น โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ซึ่งได้เฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลว หรือสะเก็ดดอกไม้ไฟ หรือพลุ ปี พ.ศ.๒๕๕๑-๒๕๕๕ ทั่วประเทศ พบว่า มีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ จำนวน ๒,๙๗๙ ราย (เฉลี่ยปีละ ๕๙๖ ราย หรือวันละเกือบ ๒ ราย) เสียชีวิต ๘ ราย กลุ่มอายุที่พบบ่อย คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ ๑๐-๑๔ ปี (ร้อยละ ๒๓.๘) เดือนที่เกิดเหตุสูงสุด คือ เดือนตุลาคมหรือช่วงเทศกาลวันออกพรรษา ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ๑๖.๐๐ -๒๐.๐๐ น. กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกคนและอยากให้ทุกคนมีความสุขในช่วงเทศกาลออกพรรษา จึงขอเตือนว่าการบาดเจ็บจากการจุดประทัด โดยการจุดประทัดนั้นจะต้องระมัดระวังอย่างมาก ไม่ควรจุดประทัดภายในบ้านเรือน ใกล้แนวสายไฟ เพราะประกายไฟอาจกระเด็นไปติดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดเพลิงไหม้และไม่จุดประทัดครั้งละจำนวนมาก เพราะแรงระเบิดจากประทัดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะการจุดประทัดที่มีสายชนวนสั้น จุดไม่ติดก็ไม่ควรจุดซ้ำ ที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองควรดูแลและคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันออกพรรษา และไม่ควรการดื่มสุราแล้วมาเล่น" นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าว สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณบาดแผลหรือให้น้ำไหลผ่านเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด จากนั้นปิดด้วยผ้าสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้หากผู้บาดเจ็บสวมใส่เครื่องประดับ ควรถอดออกด้วย เพราะหากปล่อยไว้นิ้วหรือข้อมืออาจบวมจนทำให้ถอดยาก และหากมีบาดแผลฉีกขาดจากการระเบิดของปะทัดให้ใช้ผ้าสะอาดกดที่บริเวณบาดแผล เพื่อทำการห้ามเลือด ล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติจะมีผลช่วยลดอาการปวดบริเวณบาดแผลได้ หลังจากนั้นซับด้วยผ้าแห้งสะอาด แล้วสังเกตว่าถ้าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใสหรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์ แต่ถ้ามีแผลบริเวณใบหน้าจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุดและห้ามใส่ยาใด ๆ ก่อนถึงมือแพทย์ ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน ๑๖๖๙ เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดย ซึ่งจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉิน และทีมกู้ชีพคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอด ๒๔ ชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ