ก.ไอซีที เร่งยกระดับกิจการไปรษณีย์พร้อมแข่งขันในเวทีโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday October 20, 2015 17:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายวีระศักดิ์ กิติวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในการเป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนากิจการไปรษณีย์ ภายใต้โครงการศึกษากรอบการพัฒนากิจการไปรษณีย์ของประเทศไทย ในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ณ ห้องวีนัส ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ว่า ประเทศไทยมีนโยบายเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจการค้าได้อย่างเสรีกับนานาชาติในยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อสร้างความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ซึ่งทุกภาคส่วนต่างตระหนักและให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และมีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้ กระทรวงไอซีทีได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการศึกษากรอบการพัฒนากิจการไปรษณีย์ของประเทศไทยขึ้น โดยทำการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พิจารณาทบทวน ตลอดจนการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการไปรษณีย์ เพื่อกำหนดเป็นกรอบแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการให้บริการไปรษณีย์ก้าวไปสู่การแข่งขันเสรีในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย รวมทั้งรูปแบบโครงสร้างกิจการไปรษณีย์ของต่างประเทศ เพื่อนำเสนอกรอบแนวทางการพัฒนากิจการไปรษณีย์ของประเทศไทยให้มีการบริการไปรษณีย์พื้นฐานอย่างทั่วถึง เพื่อศึกษาการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการเกี่ยวกับประเภทใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต และผลตอบแทนระหว่างภาครัฐและผู้ให้บริการกับผู้ประกอบกิจการไปรษณีย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงสร้างการกำกับดูแลการประกอบกิจการไปรษณีย์ของต่างประเทศ เป็นกรอบแนวทางในการกำกับดูแลกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทย เป็นฐานข้อมูลและแนวทางในการศึกษาและการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม "เนื่องจาก พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และ พ.ร.บ.ไปรษณีย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานานถึง 80 ปีแล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนากิจการไปรษณีย์ของประเทศไทยให้มีความพร้อมที่จะดำเนินการต่อไปได้อย่างยั่งยืน และสามารถพัฒนาเพื่อรองรับสำหรับการเปิดเสรีการดำเนินกิจการไปรษณีย์ในอนาคต รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้ มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้บริการไปรษณีย์มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการได้สูงสุด รวมถึงการสนับสนุนให้กิจการไปรษณีย์เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การแข่งขันอย่างเสรีได้ในหมวดสินค้าและบริการ โดยยังคงหลักการในเรื่องของการกระจายการให้บริการในประเทศได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ รวดเร็ว และด้วยราคาที่เป็นธรรม" นายวีระศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ