กสอ. แนะ 4 รูปแบบธุรกิจที่ SMEs ไทยยุคใหม่ต้องมี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 22, 2015 12:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ดัน 4 รูปแบบธุรกิจที่ SMEs ยุคใหม่ต้องมีเพื่อปรับตัว ได้แก่ เศรษฐกิจแบ่งปัน (SharingEconomy) การระดมทุนสาธารณะ (Crowd Funding)ยุคผู้สูงอายุ (Silver Generation)และสังคมแห่งเทคโนโลยี (Mobilization World) เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนไปสู่ยุคปัจจุบัน และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ตลอดจนเพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการโดยใช้ทรัพยากรได้อย่างมีคุณค่าที่สุด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการSMEsสามารถดำเนินการตามแนวทาง 4 รูปแบบดังกล่าวโดยการเข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งกสอ. ตั้งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการกว่า 2,000 คนภายในปีนี้ ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่ากสอ.ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผ่านการจัดอบรมให้ความรู้และบริการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ทัดเทียมนานาชาติและเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ภายใต้แนวคิดSMEs ไทยก้าวไกลสู่สากล ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการ SMEs 2,000 คนภายในปีนี้ ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า วิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยสัดส่วนผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือการค้าแบบออนไลน์ก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่การขายเปิดกว้างอย่างไม่จำกัดขึ้นด้วย ผู้ประกอบการ SMEsยุคใหม่ต้องเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวเพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างปริมาณความต้องการสินค้าในตลาด(อุปสงค์) และปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในตลาด (อุปทาน) เข้าด้วยกัน นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางการปรับตัวผู้ประกอบการต้องเข้าใจรูปแบบการทำธุรกิจของ SMEs ยุคใหม่ 4 รูปแบบ อันได้แก่ · เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) รูปแบบธุรกิจที่ SMEs ยุคใหม่ต้องทำซึ่งช่วยให้สามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่มีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว (Excess Capacity) ทั้งในแง่ของการแบ่งปันและการใช้ทรัพยากรร่วมกันอาทิ การแบ่งปันวัตถุดิบที่เหลือใช้ หรือการแนะนำแหล่งวัตถุดิบต่อกัน ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบเท่านั้น แต่รวมถึงองค์ความรู้ ทักษะและแรงงานด้วยอาทิ การแชร์ทักษะเฉพาะทางในด้านการออกแบบ หรือการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องประดับเป็นต้น · การระดมทุนสาธารณะ (Crowd Funding)รูปแบบธุรกิจที่เหมาะสำหรับ SMEsยุคใหม่ที่มีแนวคิด หรือนวัตกรรมดีๆ แต่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงต้องเสนอแนวคิดเพื่อก่อให้เกิดการร่วมทุนจากผู้ที่สนใจและเกิดความชอบในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกในตลาดหรือเกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมยุคใหม่และความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและสังคมได้ · ยุคผู้สูงอายุ (SilverGeneration) รูปแบบธุรกิจที่ SMEs ยุคใหม่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านของสังคม ปัจจุบันประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยมีประชากรกว่า10 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.9 (ที่มา:สำนักงานสถิติแห่งชาติ)ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน เพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตที่เอื้อต่อความบกพร่องทางร่างกาย หรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสุขภาพหรือชะลอวัย · สังคมแห่งเทคโนโลยี (Mobilization World) รูปแบบธุรกิจที่สามารถตอบสนองสังคมแห่งการใช้สมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ(E-Commerce)ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมาก โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซใช้ช่องทางผ่านโซเชียลมีเดีย อยู่ประมาณ 500,000 ราย และมีคนไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้ถึง 14.87 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2558 มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในส่วนของการซื้อขายตรงไปยังผู้บริโภคจะมีสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม ได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-17 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ