กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--บีโอไอ วัฒนานำทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้แทนการค้าไทยรุกดึงการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงและกิจการที่ยังไม่มีการผลิตในไทยจากญี่ปุ่น โดยเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น เพื่อชักชวนให้ลงทุนผลิตเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ไทยไม่มี และชวนให้ผลิตเอสคาร์ นายสาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงการเดินทางไปชักจูงการลงทุนที่กรุงโตเกียว และเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 14 — 18 มิถุนายน 2548 โดยมีนายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดว่า การชักจูงการลงทุนจากญี่ปุ่นในครั้งนี้ บีโอไอจะชักชวนให้บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูง (Value Creation) รวมทั้งกิจการที่ยังไม่มีการผลิตในไทย เพื่อเสริมสร้างและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้สมบูรณ์และเข้มแข็งยิ่งขึ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนแนวใหม่ของบีโอไอ ที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูง ทั้งนี้ คณะของไทยจะเข้าพบปะหารือกับบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ประกอบด้วยบริษัทโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน อีซูซุ ซูซูกิ ฟอร์ดและมาสด้า เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนผลิตกิจการที่ยังไม่มีในไทย อาทิ การผลิตเครื่องยนต์เบนซิน ชุดเกียร์อัตโนมัติ ระบบเบรคเอบีเอส รวมทั้งจะชักชวนให้เข้ามาลงทุนผลิตรถเอสคาร์ หรือรถประหยัดพลังงานในประเทศไทยด้วย สำหรับการเข้าพบปะหารือกับบริษัทฮิตาชินั้น จะมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในกิจการที่ยังไม่มีในไทยเช่นกัน อาทิ จอพลาสม่า จอแอลซีดี นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสอันดีที่คณะ พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) และประธานสภาอุตสาหกรรมญี่ปุ่น หรือ เคดันเรน เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ การเดินทางไปชักจูงการลงทุนในครั้งนี้ ยังจะมีพิธีลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่าง บีโอไอ กับ City of Yokohama เพื่อร่วมกันเสริมสร้างความสัมพันธ์ในการสร้างเครือข่ายการส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอี รวมทั้งยังส่งเสริมเรื่องการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการญี่ปุ่นด้วย นายสาธิตกล่าวต่อไปว่า ระหว่างการพบปะนักธุรกิจชั้นนำในกรุงโตเกียว บีโอไอจะจัดการสัมมนาในหัวข้อ “โอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย” โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายประจวบ ไชยสาสน์ ผู้แทนการค้าไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ จากนั้นบีโอไอจะเน้นการนำเสนอเรื่องยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนแนวใหม่เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีนักธุรกิจญี่ปุ่นตอบรับเข้าร่วมฟังการสัมมนาแล้วกว่า 500 ราย ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยสูงสุด ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับโครงการลงทุนจากประเทศอื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้า 50% การลงทุน และในปีนี้ บีโอไอได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนจากญี่ปุ่นไว้ทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 50 ซึ่งคาดว่าการลงทุนจากญี่ปุ่นในปีนี้จะสูงกว่าเป้าหมายอย่างแน่นอน เพราะเพียงช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 พบว่ามีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นขอรับส่งเสริมถึงร้อยละ 65 ของเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีจำนวน 154 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 105,160 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากญี่ปุ่นในไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 2528 - 2547 พบว่า มีจำนวนโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 4,083 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1,548,260 ล้านบาท--จบ--