มธ. ผุด 4 ดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคม หวังแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ข่าวทั่วไป Monday October 26, 2015 19:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยผลวิจัยนำร่อง "ดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคม" ในระยะที่ 1 กลุ่มตัวอย่างระบุ สังคมไทยยังขาดความเป็นธรรมใน "กฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน และกระบวนการยุติธรรม" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคม เพื่อสะท้อนมุมมองและความคิดเห็นของประชาชน ต่อประเด็นความเป็นธรรมในสังคมไทย ซึ่งมีความซับซ้อนของแนวความคิดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ผ่าน 4 มิติดัชนีชี้วัด ได้แก่ 1.มิติการยอมรับและความเสมอภาคทางสังคมวัฒนธรรม 2.มิติการมีส่วนร่วมและสิทธิทางการเมือง 3.มิติเศรษฐกิจการกระจายทรัพยากร และ 4.มิติกฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผลการสำรวจเบื้องต้นในระยะที่ 1 กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสังคมไทยในมิติหลักกฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน และการบวนการยุติธรรม ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ ในระยะต่อไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งเป้าขยายการสำรวจให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ พร้อมทั้งดำเนินการสำรวจต่อเนื่องทุกปี เพื่อรายงานสถานการณ์ภาพรวมของสังคมไทยให้เป็นที่ประจักษ์ และนำไปเป็นข้อมูลอ้างอิงในการพัฒนาแนวทางลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในอนาคต ศาสตราจารย์ ดร.ประมวญ เทพชัยศรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาบริการสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนความเป็นธรรมในสังคมไทย ดังนั้น ในห่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งส่งผลเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อประชาชนทั่วทั้งประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ส่งเสริมการจัดทำวิจัยในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายบริหารงานของ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยการขยายผลการศึกษาทางวิชาการออกสู่สังคมตามแนวคิดการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ด้วยการนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning มาใช้ให้นักศึกษาเรียนรู้จากประเด็นปัญหาจริง และลงมือทำโครงการ ค้นคว้าวิจัย หรือแก้ปัญหาด้วยตนเอง ตามแนวทางการเรียนแบบ Problem-Based, Case-Based และ Search-Based ซึ่งผลจากการดำเนินนโยบายข้างต้น จะสามารถสร้างบุคลากรและบัณฑิตให้มีคุณสมบัติการเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคม กล่าวว่า จุดเริ่มต้นโครงการจัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคม เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า "สังคมไทยมีความเป็นธรรมอยู่จริงไหม? และมีในระดับใด?" ซึ่งที่ผ่านมาการตอบคำถามมักเป็นความรู้สึกนึกคิดและการรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่สามารถจับต้องความเป็นธรรมทางสังคมได้ว่ามีอยู่อย่างเป็นรูปธรรมจริงหรือไม่ จึงได้ดำเนินการพัฒนาดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคมขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน สรุปเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์รายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบสถานการณ์ความมีอยู่ของความเป็นธรรมทางสังคม อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ขณะเดียวกันผลการศึกษาดังกล่าวยังทำให้สังคมได้รับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันผลักดัน ความเป็นธรรมในมิติต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกโดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ คณะวิจัยได้สรุปดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคมออกเป็น 4 มิติ ดังนี้ 1.มิติการยอมรับและความเสมอภาคทางสังคมวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพ การยอมรับค่านิยมเชิงคุณค่า ยอมรับและเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายรวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมด้านอัตลักษณ์ส่วนตัวและอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การยอมรับความแตกต่างของคนในสังคม ทั้งทางด้านการเมือง ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา และเพศสภาวะ เป็นต้น 2.มิติการมีส่วนร่วมและสิทธิทางการเมือง โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมประชาธิปไตยที่หลากหลาย โดยที่ประชาชนสามารถเลือกสถาบันของรัฐที่จะเป็นตัวแทนในการรักษาผลประโยชน์ให้สังคม ผ่านพื้นฐานของกติกาที่ทุกคนมีส่วนร่วม ตลอดจนเปิดโอกาสให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ส่วนตน ของชุมชน และสาธารณะ เช่น การมีโอกาสในการใช้สิทธิเลือกตั้ง การมีโอกาสในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การมีส่วนร่วมผ่านสิทธิในทรัพยากร ฯลฯ 3. มิติเศรษฐกิจการกระจายทรัพยากร โดยมุ่งเน้นแง่มุมการจัดสรรทรัพยากรอย่างเที่ยงธรรม ความยากง่ายในการเข้าถึงทรัพยากร ตลอดจนการวางเงื่อนไขกฎเกณฑ์กติกาที่เป็นธรรมในการกระจายทรัพยากร เพื่อสร้างโอกาสในการมีชีวิตที่ดี ทั้งในแง่การศึกษา การสาธารณสุข เช่น การกระจายรายได้ ทรัพย์สินและที่ดิน การลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน การส่งเสริมโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณะโดยเฉพาะด้านสุขภาพและการศึกษา และ 4. มิติกฎเกณฑ์บรรทัดฐานและการบวนการยุติธรรม โดยสะท้อนผ่านกฎเกณฑ์บรรทัดฐานภายใต้ระบบกฎหมาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกทางสังคมที่ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงถึงความเป็นธรรมทางสังคมโดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม เช่น การใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม การพัฒนากระบวนการสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ การควบคุมอำนาจรัฐให้อยู่ในวงจำกัด และการผลักดันให้ระบบศาลมีความเป็นอิสระ "จากการนำดัชนีข้างต้นทั้ง 4 ข้อ นำร่องลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างระยะที่ 1 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตสาทร คลองเตย บางกะปิ บึงกุ่ม คลองสามวา และลาดกระบัง และในพื้นที่ปทุมธานี ในอำเภอเมือง ลำลูกกา และสามโคก รวมทั้งสิ้น 1,096 ราย พบว่า ดัชนีความเป็นธรรมมิติที่ 4 คือ "มิติหลักกฎเกณฑ์บรรทัดฐานและกระบวนการยุติธรรม" ได้ค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดอยู่ที่ระดับ 45.83 จาก 100 คะแนน สะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสังคมไทยยังขาดความเป็นธรรมในมิตินี้ ขณะที่ดัชนีในมิติที่ 1 คือ "มิติการยอมรับและความเสมอภาคทางสังคมวัฒนธรรม" ได้ค่าเฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 76.26 สะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสังคมไทยยังคงมีสิทธิเสรีภาพ การยอมรับและเคารพสิทธิในทางสังคมและวัฒนธรรมในระดับค่อนข้างสูง ส่วนดัชนีในมิติที่ 2 และ 3 ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือ 65.18 และ 64.08 ตามลำดับ ส่วนผลสรุปในภาพรวมพบว่าค่าเฉลี่ยทั้ง 4 มิติ อยู่ในระดับ 55.27 สะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นว่าความเป็นธรรมในสังคมไทยอยู่ในระดับปานกลาง" อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจข้างต้นเป็นเพียงผลในระยะที่ 1 ซึ่งจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่นำร่อง จึงไม่สามารถชี้วัดภาพรวมทั้งสังคมไทยได้ แต่การกำหนดดัชนีชี้วัดทั้ง 4 มิติอันครบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมในสังคมไทย จะถูกนำไปสำรวจซ้ำในกลุ่มตัวอย่างเดิมอีกครั้งในระยะที่ 2 ในช่วงต้นปีหน้า เพื่อสอบทานความแม่นยำและสรุปเป็นข้อมูลให้นักวิจัยวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ ก่อนสรุปเป็นแนวทางเพื่อขยายไปสู่การสำรวจให้ครบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย จากนั้นในระยะยาวจะมีการจัดทำรายงานดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมในสังคมไทยเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี เพื่อรายงานผลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยผลักดันความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระ กล่าวทิ้งท้าย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทยผ่านการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษาด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรมการมีจิตสาธารณะและการมีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์..มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. 02-613-3030

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ