การสัมมนาโครงการศึกษาเพื่อหาสาเหตุการตกสะสมของกรดในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday October 18, 2000 10:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กรมควบคุมมลพิษ
การสัมมนา โครงการสัมมนา การศึกษาเพื่อหาสาเหตุการตกสะสมของกรดในประเทศไทย วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2543 ห้องธาราทิพย์ 1-2 โรงแรมดิอิมพีเรียล ธารา กรุงเทพฯ หลักการและเหตุผล ปัญหาการตกสะสมของกรด (Acid Deposition) เป็นปัญหาในระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยมีลักษณะเป็น Transboundary Pollution ซึ่งประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากการตกสะสมของกรดทั้งที่มีแหล่งกำเนิดจากภายในประเทศ รวมถึงที่แพร่กระจายมาจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้มีการจัดตั้งเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Acid Deposition Monitoring Network in East Asia : EANET) เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงความจำเป็นในการร่วมมือแก้ไข และควบคุมปัญหาดังกล่าวในระดับภูมิภาคอันจะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ในการเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากการตกสะสมของกรดต่อไป ในส่วนของประเทศไทยได้มีการจัดตั้งเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในประเทศไทยขึ้น โดยจะทำการเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำฝนและละอองกรดต่างๆในบรรยากาศ และในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนการเก็บและตรวจวิเคราะห์ดินและพืชในพื้นที่ป่าหรือที่ห่างไกลชุมชน พื้นที่ศึกษาจะครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ เชียงใหม่ (ภาคเหนือ) นครราชสีมา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ชลบุรี (ภาคตะวันออก) สงขลา (ภาคใต้) นครปฐม (ภาคตะวันตก) และอยุธยา (ภาคกลาง) โดยจะมีการเก็บตัวอย่างและรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลการตรวจวัดและการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ จะเป็นข้อมูลหลักที่จำเป็นต้องใช้ในการประเมินถึงสถานภาพการตกสะสมของกรด และระดับความรุนแรงของระดับปัญหาอันเนื่องมาจากการตกสะสมของกรดในระบบนิเวศน์และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ อันจะนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ในการเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากการตกสะสมของกรดต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อตรวจสอบถึงสถานภาพการตกสะสมของกรดและระดับความรุนแรงของปัญหา อันเนื่องมาจากการตกสะสมของกรดในระบบนิเวศน์และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย
2. ประเมินสาเหตุการตกสะสมของกรดในประเทศจากผลการตรวจสอบ
3. สร้างเครือข่ายงานติดตามตรวจสอบในทุกภูมิภาคของประเทศ
เป้าหมาย
1. ฐานข้อมูลสถานภาพการตกสะสมของกรดในแต่ละภูมิภาคของประเทศ
2. สภาพปัญหาและความรุนแรง ตลอดจนศักยภาพและความสามารถในการรองรับการตกสะสมของกรดในสิ่งแวดล้อม รูปแบบการสัมมนา การบรรยาย และอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานทางด้านการตกสะสมของกรดกับนักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
2. เกิดการประสานงานระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานต่างๆ
กลุ่มเป้าหมาย
1. ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 40 คน
2. คณะกรรมการผู้จัดสัมมนาและวิทยากร จำนวน 10 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ